การไล่พนักงานออก คือ สิ่งที่ยากที่สุดและเป็นเรื่องที่ไม่มีผู้บริหารหรือผู้นำในองค์กรไหนอยากทำ มันจะยากขึ้นไปอีกเป็นสองเท่าถ้าพนักงานคนนั้นเป็นคนเก่งและเป็นคนที่คุณไว้ใจ ฮา ฮา ฮา…เรื่องนี้มันใหญ่โตขนาดทำเอาคุณนอนไม่หลับเลยทีเดียวใช้มั๊ยล่ะ? หลายครั้งที่ผู้บริหารเลือกที่จะซื้อเวลา..ด้วยการไม่ทำอะไรเลยและหวังว่าอะไรๆ มันจะดีขึ้น สิ่งที่จะบอกว่ามันถึงเวลาของ การไล่พนักงานออก แล้วคืออะไร?
การไล่พนักงานออก
จะเกิดขึ้นได้หลังจากผ่านขั้นตอนต่างๆ ของฝ่ายบุคคลแล้วเท่านั้นเช่น ตักเตือนอย่างตรงไปตรงมา ตั้งเป้าหมายที่ยุติธรรมเพื่อให้พิสูจน์ตัวเอง ฯลฯ ซึ่งปกติแล้วพนักงานที่ดี (ส่วนใหญ่) จะรีบพยายามปรับปรับปรุงตัวเองเสมอเมื่อโดนตักเตือนโดยหัวหน้าหรือผู้บริหาร และนี่คือ 5 พฤติกรรมของพนักงานที่จะนำไปสู่การตักเตือนและถูกไล่ออก เรียงลำดับโดยการตัดสินใจไล่ออกได้ง่ายที่สุดไปยากที่สุด :
- ทุจริต – คนที่ทุจริตไม่ใช่แค่เพียงไม่ซื่อสัตย์ต่อองค์กร ไม่ซื่อสัตย์ต่อเพื่อนร่วมงาน ไม่ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ ที่สำคัญที่สุดคือไม่ซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ในเมื่อตัวเองยังทรยศได้ แล้วทำไมจะทรยศหัวหน้าไม่ได้
- ขาดใจ – ทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม เอะอะอ้าง Job Description เป็นพวกไม่มีใจให้กับองค์กร ไม่รักในสิ่งที่ทำ ไม่เชื่อในทิศทางที่หัวหน้าหรือองค์กรกำลังเดิน อาจจะไม่ได้คัดค้านแต่ไม่ให้ความร่วมมือ หรือบางคนถึงขั้นท้าทายหัวหน้าเลยทีเดียว
- ผลงานห่วยแตก – ใครๆ ก็อยากได้คนเก่งๆ มาทำงานด้วย ไม่มีผู้ใครอยากมีลูกน้องหรือเพื่อนร่วมงานที่ทำงานไม่ได้เรื่องอย่างแน่นอน คนประเภทนี้นอกจากทำงานตัวเองไม่ได้เรื่องแล้วยังทำให้ทุกคนรอบๆ ตัวเดือดร้อนไปด้วย เพราะต้องมาทำงานหนักขึ้น เสียเวลามากขึ้นเพื่อชดเชยงานที่ไม่เสร็จตามกำหนด หรือแก้ใขผลงานอันแสนห่วยของคนประเภทนี้
- ด้อยพัฒนา – อาจจะตัดใจยากนิดนึงเพราะผลงานในอดีต นายเต่าเคยมีผลงานโดดเด่นและยอดเยี่ยมที่สุด ทว่าความยอดเยี่ยมของนายเต่าเป็นสัดส่วนผกผันกับเวลา ทุกคนแซงหน้านายเต่าไปหมดแล้ว เพราะนายเต่าไม่เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่ปรับตัวเข้ากับกลยุทธ์ใหม่ นายคนใหม่ หรือทำงานร่วมกับทีมงานไม่ได้ เป็นต้น
- แหกทุกกฏ – อันนี้ก็ยากพอสมควร แต่จะมีผลทางกายและใจกับคนอื่นๆ ในทีม นายผีทะเลคือสุดยอดพนักงานขายในทีม แต่ไม่เคยปฏิบัติตามกฏกติกาเลยเช่น เอะอะขอลา มาสายทุกวัน พักเที่ยงยาว หาวหลับบ่าย สบายกลับเร็ว และอื่นๆ อีกมากมาย
ซึ่งจริงๆ แล้วทุกอย่างจะไปจบที่ “ผลงาน” เสมอ สาเหตุเหล่านี้จะนำไปสู่ผลงานอันแสนห่วยของพนักงานผู้นั้น เมื่อผลงานห่วย..การตัดสินใจก็ง่ายขึ้น
พนักงานที่ดีจะผ่านกระบวนการตักเตือนนี้ได้อย่างง่ายดาย สำหรับพนักงานที่ไม่มีอะไรดีขึ้นเลยหลังจากที่ได้ทำทุกขั้นตอนที่สมควรแล้ว มาถึงจุดนี้..การไล่พนักงานคนนั้นออก เป็นสิ่งที่จำเป็นแล้ว
แต่ถ้าคุณยังคงตัดสินใจไม่ได้ ยังไม่กล้าลงดาบอีก ยังมีคำถามและความรู้สึกที่เถียงกันอยู่ในสมองของคุณ ยังคงทำให้คุณนอนไม่หลับอีก ขอให้ถามคำถามเหล่านี้กับตัวเอง :
- เค้ามีความรับผิดชอบพอมั๊ย? – ขอให้ดูระดับของความรับผิดชอบ เค้ามีความรับผิดชอบเพียงพอกับตำแหน่งนั้นหรือไม่? มีความรับผิดชอบที่จะทำงานให้สำเร็จลุล่วงเป็นอย่างดีหรือไม่? หากคำตอบคือใช่ นั่นแปลว่าเค้ายังไม่สมควรถูกไล่ออก แต่มีปัจจัยอื่นที่เป็นอุปสรรค ซึ่งในฐานะที่เป็นหัวหน้า คุณจำเป็นต้องหาให้เจอและแก้ใขต่อไป และหากคำตอบคือไม่ คุณไม่ควรจะเก็บพนักงานคนนี้ไว้ให้เป็นเนื้อร้ายกับองค์กรอีกต่อไป มันไม่ยุติธรรมกับเพื่อนร่วมงาน กับหัวหน้า และกับองค์กรที่จะมีคนแบบนี้อยู่ด้วย
- มีคนที่เหมาะสมกว่าหรือไม่? – ไม่เพียงแค่มีคนอื่นในองค์กรที่เหมาะสมกว่าเท่านั้น แต่หมายถึงการจ้างคนใหม่ในราคาที่ถูกกว่า หรือราคาเท่ากันแต่คุณสมบัติดีกว่าด้วย ถ้าคำตอบคือไม่มี แสดงว่าคุณต้องรื้อฟังค์ชั่นและวางโครงสร้างขององค์กรใหม่ทั้งหมด เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีใครมารับหน้าที่แทนตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งไม่ได้ หรือคุณยึดติดกับความสัมพันธ์ส่วนตัวกับคนๆ นั้นมากเกินไป ถ้าคำตอบคือมี แน่นอนการหาคนใหม่ใช้เวลาและมีความเสี่ยง แต่ก็มีข้อดีมากมายเช่นกัน และอย่างน้อยมันไม่แย่ไปกว่าที่กำลังเป็นอยู่แน่นอน
- ถ้าเค้าลาออก คุณจะทำยังไง? – นี่คือคำถามสุดท้ายที่จะช่วยตอบปัญหาเรื่องความรู้สึกที่ต่อสู้กันอยู่ในสมองของคุณ สมมุติว่าวันนี้พนักงานคนนั้นเดินมาลาออกกับคุณจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม คุณจะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้เค้าอยู่ต่อหรือไม่? ถ้าการไปของเค้าทำให้คุณรู้สึกแย่มากเพราะผลเสียมากมายที่จะตามมา..แสดงว่าปัญหายังพอมีทางแก้ใขได้ ดังนั้นขอให้คุณหาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับพนักงานคนนั้นต่อไป แต่ถ้าการไปของเค้าทำให้คุณรู้สึกโล่งอก…คุณก็ร้องเพลงลาก่อนให้เค้าฟังได้เลย
หากคุณสามารถตัดเรื่องความรู้สึกหรือความสัมพันธ์ส่วนตัวออกไปและมองเพียงผลประโยชน์ขององค์กร การไล่พนักงานออกจะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นอีกเยอะ เช่นเดียวกับการค้นพบเนื้อร้าย เราจำเป็นต้องตัดมันทิ้ง ที่มันยากเพราะเรากำลังใช้ความรู้สึกเหนือเหตุผล
ลองคิดดูว่าวันนี้มีนโยบายในการลดคนขององค์กร และแผนกของคุณจะต้องโดนลดไป 1 คน
คนที่คุณจะเอาไว้ต้องเป็นพนักงานที่ดี และไม่มีข้อบกพร่องใดๆ ใช่หรือไม่?
แล้วทำไมการจะไล่พนักงานออก คุณถึงยกข้อดีของพนักงานคนนั้นขึ้นมาเพื่อจะหักล้างข้อบกพร่องล่ะ?
ที่มา : Harvard Business Review
ขอขอบคุณภาพจาก : peoplehro.com