พระพุทธรูป ภปร วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นพระพุทธรูปปาง ประทานพรในท่านั่ง ผิวสีดำ สร้างเมื่อปีพ.ศ. 2508 ซึ่งนับเป็นการสร้างพระพุทธรูปครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และเป็นพระพุทธรูปองค์เดียวที่ได้รวมเอา สัญลักษณ์ของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ไว้ในองค์เดียวกัน จึงมีคุณค่าทั้งทางศิลปะ ประติมากรรม ประวัติศาสตร์ และที่สำคัญที่สุดคือ คุณค่าแห่งจิตใจอันหาที่เปรียบมิได้
ในวงการนักสะสมพระบูชาถือกันว่า ผู้ที่เป็นนักสะสมพระตัวจริงจะต้องมีพระพุทธรูป ภปร ปี 2508 ไว้สักการะบูชา
เดิมทีพระพุทธรูปองค์นี้ ศาสตราจารย์ ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ นายช่างศิลป์กรมศิลปากร ได้ออกแบบและปั้นขึ้นตามแบบพระพุทธรูป ภปร. รุ่นแรก หรือ “พระกฐินต้น” ของวัดเทวสังฆาราม สร้างเมื่อปี 2506 โดย แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทอดพระเนตรแล้ว ทรงมีพระราชวินิจฉัยและทรงมีแนวพระราชดำริว่า…
พระพุทธรูปปางประทานพร ภปร. ควรมีพุทธลักษณะเข้มแข็งแต่ไม่แข็งกระด้าง อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ และให้ดูมีเมตตา ใครที่ดูพระพุทธรูปองค์นี้ หากมีจิตใจอ่อนไหวก็ให้มีจิตใจเข้มแข็งขึ้น และมีความรูสึกสงบเยือกเย็นสุขุม
นอกจากจะทรงพระราชทานอักษรพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. มาประดิษฐานบนผ้าทิพย์ที่บริเวณฐานพระแล้ว ยังได้ทรงพระราชทานภาษิต สำหรับจารึกไว้ที่ฐานรองพุทธบัลลังค์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของชาติว่า…
ทยฺยชาติยา สามคฺคิย สติสญฺชานเนน โภชิสิย รกฺขนฺติ
แปลได้ว่า “คนชาติไทย จะรักษาความเป็นไท อยู่ได้ด้วยมีสติสำนึกอยู่ในความสามัคคี”
จึงถือได้ว่าพระองค์ท่านได้พระราชทานพระบูชาองค์นี้ ซึ่งได้รวมเอาสัญลักษณ์ของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เข้าไว้ในองค์เดียวกันเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ชาวพุทธในราชอาณาจักรไทย สืบไปชั่วกาลนาน
ในการหล่อสร้างพระบูชา ภ.ป.ร เมื่อปี 2508 นั้นมี 3 ขนาดด้วยกัน คือ
1.) พระพุทธรูป ภ.ป.ร. ขนาดหน้าตัก 9 นิ้ว รมดำ
2.) พระพุทธรูป ภ.ป.ร. ขนาดหน้าตัก 5 นิ้ว รมดำ
3.) พระกริ่ง ภ.ป.ร. สัมฤทธิ์ รมดำ
ปรากฏว่ามีผู้สั่งจองกันอย่างมากมายเป็นประวัติการณ์ กล่าว คือ ขนาดหน้าตัก 9 นิ้ว มีผู้สั่งจอง 4,247 องค์ ขนาดหน้าตัก 5 นิ้ว มีผู้สั่งจองถึง 21,449 องค์ รวมแล้วเป็นจำนวนถึง 25,696 องค์ นับเป็นการสร้างพระพุทธรูปครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา การหล่อสร้างพระพุทธรูป ภ.ป.ร. ครั้งมโหฬารนั้นจึงต้องใช้เวลาดำเนินการนานถึง 7-8 ปีกว่าจะสำเร็จสิ้นลงไปหมด

(ขอบคุณภาพ พระบูชา ภปร ปี 2508 จาก www.pralanna.com)
ซึ่งจุดประสงค์ในการสร้าง คือ นำรายได้ทูลเกล้าฯถวายเพื่อบูรณะพระอุโบสถวัดบวรนิเวศฯ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินสีห์ อันเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่กับพระพุทธชินราช และเป็นพระอารามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จฯ ประทับขณะทรงผนวช ส่วนหนึ่งเพื่อสร้างโรงเรียนขึ้นที่วัดเทวสังฆาราม กาญจนบุรี อันเป็นพระอารามที่เริ่มดำริสร้างพระพุทธรูปนี้ขึ้น ส่วนหนึ่งพระราชทานแด่องค์การสาธารณกุศลตามพระราชอัธยาศัย
การประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ครั้งนี้เป็นเวลา 3 วันโดยในหนังสือ จาตุรงคมงคล ของวัดบวรนิเวศ ได้บันทึกพิธีกรรมไว้ว่า …
- วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2508 เวลา 16.20 น.พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯเข้าสูพระอุโบสถ ทรงประเคนผ้าไตรแด่ สมเด็จพระราชาคณะ และพระราชาคณะ พร้อมพระสงฆ์ที่มาในพิธีพุทธาภิเษกทั้งหมดแล้ว สมเด็จพระราชาคณะและพระราชาคณะ 10 รูป ที่เจริญพุทธมนต์ออกไปครองผ้า แล้วกลับมานั่งยังอาสนะพร้อมแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย สมเด็จพระราชาคณะประธานพระสงฆ์ถวายศีลจบ พระราชครูวามเทพมุนีถวายน้ำเทพมนต์แล้วพระสงฆ์ 10 รูป เจริญพระพุทธมนต์ และลงคาถาในแผ่นโลหะที่จะผสมหล่อพระพุทธรูปจบแล้ว ได้เวลาพระฤกษ์ (17.16 – 17.41 น.) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงจุดเทียนทอง ทรงตั้งสัตยธิษฐาน ถวายเทียนทองนั้นแต่สมเด็จพระราชาคณะผู้เป็นประประธานสงฆ์จุดเทียนชัย พราหมณ์เป่าสังข์ ชาวพนักงานประโคมสังข์ แตรบัณเฑาะว์และดุริยางค์ พระสงฆ์เจริญคารา จุดเทียนชัยจบแล้วถวายอนุโมธนาถวายดิเรก (ไม่ออกจากพระอุโบสถ คงนั่งอยู่ตามเดิม) เจ้าพนักงานนิมนต์พระราชาคณะที่นั่งปรกขึ้นนั่งยังอาสนะหน้าตู้เทียนชัย และพรสงฆ์ที่จะสวดภาณวารขึ้นนั่นยังเตียงมณฑล พร้อมแล้วพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงจุดธูปเทียนเครื่องบูชาธรรมที่มณฑลพระสวดภาณวาร เสด็จพระราชดำเนินกลับ พระสงฆ์สวดภาณวารต่อไปคณาจารย์นั่งปรกทำการปลุกเสกโลหะต่าง ๆ ตลอดคืน พระราชครูวามเทพมุนีประกอบพิธีบูชากุมภ์ประพรมน้ำเทพมนต์ปลุกเสกโลหะต่าง ๆ
- วันเสาร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2508 พระภาวนาจารย์และพระเกจิอาจารย์ หมุนเวียนกันนั่งปลุกเสกโลหะ ที่จะใช้หล่อพระ และถ่ายรูปพร้อมกันเป็นที่ระลึก โดยมีพิธีปลุกเสกตลอดคืนเช่นกันกับวันแรก
- วันอาทิตย่ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2508 เวลา 16.30 น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯไปยังปะรำพิธีมณฑลหน้าตึกมนุษย์นาควิทยาทาน โรงเรียนวัดบวรนิเวศฯ ทรงจุดธูปเทียนสักการบูชาพระรัตนตรับเสร็จแล้ว จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ประธานการสร้าง อ่านรายงานกราบบังคมทูลการสร้างพระพุทธรูป – พระกริ่ง ภ.ป.ร. จากนั้นได้เวลาพระฤกษ์ 16 นาฬิกา 13 นาที พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯไปยังเบ้าหล่อพระแล้วทรงหย่อนทองสำหรับหล่อพระพุทธรูป มีพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ในเตาแรกไปจนครบ 32 เตา พระสงฆ์ในวิหารและกับพระคณาจารย์ที่นั่งอยู่รอบพิธีมณฑลทั้ง 8 ทิศ เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัยสังข์แตรดุริยางค์ พระราชครูวามเทพมุนีรดน้ำสังข์ที่เบ้าภายหลังหล่อพระทุกเบ้าตามลำดับ เสร็จแล้วเสด็จฯไปประกอบพิธียังพระเจดีย์หลังพระอุโบสถ พระพุทธชินสีห์ต่อไป
ที่มา : www.udommongkol.com, หนังสือ “100 เรื่องในหลวงของฉัน” โดย วิทย์ บัณฑิตกุล