องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ร่วมกับ มูลนิธิบราเดอร์ฮีแลร์ โรงเรียนอัสสัมชัญ และสมาคมอัสสัมชัญ ร่วมกันจัดทำภาพยนตร์โทรทัศน์ Tele-movie ชุด “ Inspired by idol คน…บันดาลใจ ” โดยได้คัดเลือกบุคคลที่สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนไทยในสังคม ซึ่ง 1 ในบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกได้แก่ “ภราดา ฟ.ฮีแลร์” ปูชนียบุคคลของโรงเรียนอัสสัมชัญ
ในการถ่ายทำภาพยนตร์โทรทัศน์ เรื่อง ฟ.ฮีแลร์ ครูฝรั่งแห่งสยามประเทศ นั้นทางทีมงานพยายาทำให้ฉากเหมือนของจริงในสมัยนั้นมากที่สุด โดยใช้อุปกรณ์ประกอบฉากบางส่วนมาจากอุปกรณ์จริงที่ ฟ.ฮีแลร์ใช้ อาทิ เตียงนอนโบราณ แคร่ ถ้วยรางวัลและอื่นๆ และในห้องทำงานของ ฟ.ฮีแลร์ มีรูปศิษย์เก่าอัสสัมชัญ “อันคนดีไทยไฝ่ประสงค์” 4 คน ประกอบด้วยนายดิเรก ชัยนาม (อดีตรองนายก) พระยาศรีธรรมาธิเบศ (ประธานรัฐสภา) นายควง อภัยวงศ์ (อดีตนายก) และหลวงอดุลย์เดชจรัส (อดีตองค์มนตรี)
พบกับภาพยนตร์โทรทัศน์ เรื่อง “ฟ.ฮีแลร์ ครูฝรั่งแห่งสยามประเทศ” เจสัน ยัง รับบท ฟ.ฮีแลร์สมัยหนุ่มๆ เครายังสั้นอยู่ กำกับโดย “แหม่ม” มาม่าบลูส์ และกำกับศิลป์โดย เอก เอี่ยมชื่น ได้ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และฉายที่โรงภาพยนตร์ Siam Pavalai Royal Grand Theater ที่ Siam Paragon ต้นปีหน้า
Trailer #1 :
Trailer #2 :
Trailer #3 :
Trailer #4:
ส่วนหนึ่งจากภาพยนตร์:
สำหรับใครที่สงสัยว่า ฟ. ฮีแลร์ เป็นใครทำไมถึงได้รับเลือก? ขอให้ลองอ่านประวัติของ ฟ. ฮีแลร์ ดูครับ (ที่มา www.tuaytoon.com)
ฟ. ฮีแลร์ (F. Hilaire) เป็นนักบวช ในศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิค และเป็น ๑ ใน ๕ ของภราดา คณะเซนต์คาเบรียล จากประเทศฝรั่งเศษ ที่เดินทางมาเมืองสยาม เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเข้าบริหารโรงเรียนอัสสัมชัญ ตามข้อตกลงกับบาทหลวงเอมิล กอลมเบต์ เจ้าอาวาสวัดอัสสัมชัญ ผู้ริเริ่มก่อตั้งและปกครองโรงเรียนมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๒๘ เมื่อมาถึงสยาม ฟ. ฮีแลร์ อายุเพิ่งย่างเข้า ๒๐ ปี หนุ่มที่สุดในคณะ แต่ท่านมีลักษณะน่าเกรงขาม เพราะไว้หนวดเฟิ้ม และเลี้ยงเคราสีดำขลับยาวถึงน่าอก ในวันแรกที่เยียบย่างเข้าสู่โรงเรียนอัสสัมชัญนั้น ท่านพบนักเรียนตัวเล็กๆกำลังท่องหนังสือ มูลบทบรรพกิจ ท่านรู้สึกว่าภาษาไทยที่ได้ยิน ช่างไพเราะเหลือเกิน เสียงสูงๆต่ำๆ ฟังคล้ายดนตรี ทำให้ท่านตั้งปณิธานแน่วแน่ว่า ต้องเรียนรู้ภาษาไทยให้จงได้
ท่าน ฟ. ฮีแลร์ เป็นคนฉลาด มีอัจฉริยะด้านภาษาศาสตร์ ประกอบกับเป็นคนขยันและมุ่งมั่น และได้ครูสอนที่เก่งหลายคน คือ ท่านมหาทิม ครูวัน (พระยาวารสิริ) ท่านมหาศุข ศุภศิริ และครูฟุ้ง เจริณวิทย์ ทำให้ท่านเรียนรู้ภาษาไทยได้เร็ว ไม่นานนัก ก็สามารถพูด อ่าน เขียน ภาษาไทยได้คล่องแคล่ว หลังจากอยู่เมืองไทยได้ราว ๙ ปี ความรู้ภาษาไทยของท่านฟ.ฮีแลร์แตกฉานขึ้นมาก ในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ ท่านจึงเริ่มแต่งหนังสือ ดรุณศึกษา เพื่อใช้เป็นตำราภาษาไทยสำหรับเด็กที่เริ่มเรียน แทนหนังสือมูลบทบรรพกิจ โดยท่านได้รับความกรุณาจากสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นผู้ทรงตรวจแก้ไขให้ หนังสือ ดรุณศึกษา เล่มแรก ตอน กอ ขอ นี้ ได้รับคัดเลือกให้พิมพ์เป็นหนังสือที่ระลึก ในงานพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ด้วย
ความสำเร็จที่เกิดขึ้น กำลังใจและความช่วยเหลือที่ได้รับจากสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทำให้ท่านฟ. ฮีแลร์ มุมานะ แต่งหนังสือชุด ดรุณศึกษา จนครบ ๕ เล่ม ภายในเวลา ๑๑ ปี เพื่อสำหรับใช้สอนนักเรียน ตั้งแต่ชั้นมูล จนถึงประถม ๔ หนังสือชุด ดรุณศึกษา ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ และ ใช้เป็นตำราเรียนภาษาไทยในโรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนที่อยู่ภายใต้การบริหารของคณะภราดาเซนต์คาเบรียลทุกแห่งในประเทศไทย จนกระทั่งทุกวันนี้ ท่าน ฟ. ฮีแลร์ ได้ชื่อว่าเป็นฝรั่งต่างชาติคนแรกและคนเดียวที่ได้แต่งตำราเรียนภาษาไทยขั้นพื้นฐานสำหรับสอนนักเรียนไทย นับเป็นเรื่องแปลกแต่จริงเรื่องหนึ่งก็ว่าได้
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ท่าน ฟ.ฮีแลร์ ได้ออกหนังสือโรงเรียนราย ๓ เดือน ชื่อ “อัสสัมชัญอุโฆษสมัย” โดยท่านรับเป็บรรณาธิการ และท่านได้สนับสนุนให้นักเรียนเขียนบทความ บทร้อยแก้ว ร้อยกรอง เพื่อลงพิมพ์ในหนังสือ “อัสสัมชัญอุโฆษสมัย” นับเป็นกุโศลบายที่ดีของท่าน ที่ส่งเสริมให้นักเรียนโรงรียนอัสสัมชัญรู้รักภาษาไทย และรู้จักใช้ภาษาไทยให้ได้ดี ไม่แพ้ภาษาอังกฤษ และฝรั่งเศษ ที่โรงเรียนอัสสัมชัญเน้นให้ความสำคัญ ด้วยเหตุนี้ นักเรียนเก่าอัสสัมชัญลูกศิษย์ของท่าน นอกจากเก่งภาษาอังกฤษและ/หรือฝรั่งเศษแล้ว ยังเก่งภาษาไทย ถึงขั้นแต่งโคลงกลอนได้ดีอีกด้วย เช่น ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ศจ. สุกิจ นิมมานเหมินทร์ และอาจารย์ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นต้น
ในช่วงทำหนังสือ “อัสสัมชัญอุโฆษสมัย” ท่านมีโอกาสใช้ความรู้ภาษาไทยของท่านอย่างเต็มที่ โดยเขียนบทความ นิทาน โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ที่มีคติสอนใจ ลงในหนังสืออุโฆษสมัยอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งสามารถรวบรวมเป็นหนังสือเล่มโตได้หลายเล่ม และเมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ โปรดให้ท่านแปลจดหมายเหตุของมองซิเออร์ เดอ วีเซ ว่าด้วยเรื่อง “ทูตไทยไปเมืองฝรั่งเศษ” ท่านแปลได้ดีมาก เพราะรู้ทั้งภาษาฝรั่งเศษและภาษาไทยอย่างลึกซึ้ง เมื่อแปลเสร็จแต่ละตอน ท่านก็ส่งถวายสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพพร้อมกับลงพิมพ์ในหนังสืออุโฆษสมัย ต่อมา ราชบัณฑิตสภาได้รวบรวมจัดพิมพ์ในชุดประชุมพงศวดาร ภายใต้ชื่อใหม่ว่า “โกศาปานไปฝรั่งเศษ”
นอกจากนี้ ท่านยังส่งสำนวนร้อยกรองเข้าประกวดในหัวข้อที่สามัคยาจารย์สมาคมจัดขึ้นในโอกาสต่างๆ และได้รับรางวัลอยู่เนืองๆ ในงานบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลมี่ ๗ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ บราเดอร์ฮีแลร์ได้รับเลือกให้เป็นผู้ประพันธ์และอ่านคำถวายพรชัยมงคล ในนามมิซซังโรมันคาทอลิคอีกด้วย ฝีไม้ลายมือในการเขียนหนังสือของท่าน ทำให้ท่านได้รับการยกย่องจากนักปราชญ์และกวีชาวไทยในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก เมื่อมีการจัดตั้งสมาคมวรรณคดีขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงโปรดเชิญท่าน ฟ. ฮีแลร์ เข้าเป็นกรรมการด้วย โดยเป็นฝรั่งต่างชาติคนเดียว ที่ได้เป็นกรรมการของสมาคมอันทรงเกียรติแห่งนี้
เพื่อให้ท่านผู้อ่านต่วย’ตูน รับรู้ถึงความสามารถทางด้านกวีของท่าน ฟ. ฮีแลร์ ลองมาดูตัวอย่างผลงานของท่านสักหน่อยดีไหม ผลงานกาพย์ยานี ๑๑ บทหนึ่งของท่านที่รู้จักกันแพร่หลายก็คือ
สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม อีกคนตาแหลมคม มองเห็นดาวอยู่พราวพราย
ซึ่งท่านแปลจากบทกวีของนักบวชชาวอังกฤษชื่อ Frederick Longbridge ที่ว่า “Two men look out through the same bars; one sees mud, the other – stars” ส่วนกลอนและโคลงกระทู้ที่ท่านแต่งข้างล่างนี้ ท่านผู้อ่านต่วย’ตูน คงรู้สึกแปลกใจเป็นแน่ว่า คนแต่งเป็นฝรั่งต่างชาติจริงๆหรือ
คนฉลาดขาดเฉลียวประเดี๋ยวแย่ เหมือนเรือแพออกค้าสุดฟ้าเขียว
แต่หากขาดเข็มทิศเสียนิดเดียว อาจแล่นเลี้ยวเกยแก่งแล่งทลาย
ถ้าแม้มีเข็มทิศติดไปแล้ว คงคลาดแคล้วเกาะแก่งถึงที่หมาย
เข้าเทียบท่าเปิดระวางอย่างสบาย เสร็จซื้อขายกลับบ้านสำราญรมย์
หมุน เวียนเปลี่ยนใหม่ให้ ทันกาล
สมอง เชี่ยวปรีชาชาญ ส่งไซร้
ให้ทัน ช่วงใช้งาน ก่อเกิด ประโยชน์นา
สมัย ใหม่ย่อมต้องให้ เก่าเคล้า ระคนกัน
เนื่องจากท่าน ฟ. ฮีแลร์ รู้ภาษาไทยมากกว่าภราดารูปอื่นๆ และบุคคลิกของท่านน่ายำเกรง ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งจากอธิการโรงเรียนให้เป็นอาจารย์ผู้ปกครอง ซึ่งท่านได้ทำหน้าที่นี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ท่าน ฟ. ฮีแลร์ จัดให้มีการอบรมจิตใจและสอนศีลธรรมจรรยาแก่นักเรียนสัปดาห์ละครั้ง โดยเน้นให้นักเรียนตั้งใจเล่าเรียนหาความรู้ มีกริยามรรยาทเรียบร้อย อ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักกตัญญูต่อพ่อ แม่ ผู้มีพระคุณ และประเทศชาติ ท่านมีจิตวิทยาสูง วาทศิลป์ดี มีอารมย์ขัน ทำให้การอบรม ไม่น่าเบื่อ นักเรียนอัสสัมชัญรุ่นแล้ว รุ่นเล่า รวมทั้งผู้ปกครองจึง รัก เคารพ และเลื่อมใสท่านมาก เรียกท่านว่า บราเดอร์ ฮีแลร์ติดปากทุกคน
สำหรับนักเรียนที่เกเร ชอบหนีเรียน ชอบทะเลาะวิวาทกัน ท่านก็กำหราบ ทำโทษเฆี่ยนก้นด้วยหวายเส้นโต และเคี่ยวเข็นอบรมสั่งสอนให้ประพฤติดี ไม่ทำให้พ่อแม่เสียใจ ทำให้นักเรียนที่เกเรเกรงกลัวมาก และแอบตั้งฉายาบราเดอร์ ฮีแลร์ ว่า “โจโฉ” เพราะท่านไว้เครายาว เหมือนตัวโจโฉที่แสดงในงิ้ว ที่ห้องทำงานของ
ท่านมีหวายเส้นโตหลายเส้นใส่ในโอ่งสีเขียวปากแคบ ตั้งอยู่ข้างโต๊ะทำงาน พวกเด็กเกเร เห็นหวายในโอ่งเขียว เป็นเสียวก้นกันทุกคน ในการทำโทษนักเรียนที่เกเรนั้น ท่านทำด้วยความเที่ยงธรรม กล่าวคือ ไม่ว่านักเรียนที่เกเรเหล่านี้เป็นลูกเจ้า ลูกนักการเมืองผู้ทรงอิทธิพล หรือลูกนักธุรกิจใหญ่ เมื่อทำผิด เป็นถูกท่านเฆี่ยนก้นเสมอหน้ากันหมด นักเรียนที่เกเรหลายคน เมื่อเติบโตแล้ว มีหน้าที่การงานตำแหน่งใหญ่ ยอมรับว่า ที่ได้ดี เพราะคำสั่งสอนของบราเดอร์ฮีแลร์โดยแท้
บราเดอร์ฮีแลร์เป็นครูที่ดุก็จริง แต่ท่านมีความใกล้ชิดกับนักเรียนทุกคน ปกติ เวลาท่านพูดกับนักเรียน โดยเฉพาะนักเรียนชั้นเล็ก ท่านจะใช้สรรพนามแทนตัวเองว่า “ครู” แต่หากเป็นนักเรียนชั้นโต ท่านจะใช้สรรพนาม “อั๊ว -ลื้อ” ทำให้ครูกับศิษย์สนิทสนมกันยิ่งขึ้น ที่สำคัญ ท่านเมีอารมย์ขัน และเข้าถึงจิตใจของวัยรุ่น คุณนพ โภคานันท์ ศิษย์เก่าอัสสัมชัญท่านหนึ่ง เขียนเล่าให้เพื่อนๆฟังว่า บ่ายวันหนึ่ง ถูกตามตัวให้ไปพบบราเดอร์ฮีแลร์ที่ห้อง เมื่อไปถึง ท่านยื่นจดหมายเปิดผนึกแล้วฉบัยหนึ่งส่งให้ คุณนพเห็นแล้ว ใจหายวาบ เพราะเป็นจดหมายจากแฟนสาว ซึ่งเรื่องชู้สาวแบบนี้ ถือเป็นเรื่องผิดระเบียบร้ายแรงของโรงเรียน คุณนพเองคิดว่าคงถูกลงโทษสถานหนักเป็นแน่ แต่ผิดคาด บราเดอร์ฮีแลร์กลับนั่งเอกเขนกด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม แล้วสั่งให้คุณนพอ่านจดหมายดังๆให้ท่านฟัง
คุณนพเล่าว่ารู้สึกอับอายมาก แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร จึงต้องอ่านจดหมายตามที่บราเดอร์ฮีแลร์เร่งรัด พออ่านจดหมายที่เริ่มต้นว่า “ยอดชีวิต… ” ท่านหัวเราะคับห้อง สั่งให้อ่านซ้ำอีก และเมื่อถึงตอนที่หวานแหวว ก็ให้อ่านทวนอยู่หลายเที่ยว พร้อมกับสอบถามความรู้สึกของคุณนพไปด้วย กว่าจะอ่านจดหมายความยาว ๒ หน้าจบ ใช้เวลากว่าครึ่งชั่วโมง เมื่อคุณนพอ่านจดหมายจบแล้ว บราเดอร์ฮีแลร์หัวเราะชอบใจ ท่านตรวจสอบสมุดทำงานของคุณนพดูแล้ว รู้ว่าเป็นเด็กเรียนดี ไม่มีประวัติเกเร และการมีความรักแบบหนุ่มสาว ไม่มีผลเสียต่อการเรียน ท่านได้คืนจดหมายแฟนให้คุณนพ พร้อมกับแนะให้คุณนพเขียนตอบแฟน ขอให้แฟนช่วยเป็นกำลังใจให้เรียนจนสำเร็จ บราเดอร์ฮีแลร์ถือโอกาสแนะนำสิ่งที่มีคุณค่าแก่ชีวิตให้คุณนพด้วย ทำให้คุณนพปลาบปลื้ม เคารพรักบราเดอร์ฮีแลร์มากยิ่งขึ้น ครูที่เข้าใจศิษย์เยี่ยงบบราบราเดอร์ฮีแลร์นี้ หายากนัก
ถึงแม้รับภาระหนักในการทำหน้าที่อาจารย์ผู้ปกครอง บราเดอร์ฮีแลร์ก็ไม่ทิ้งงานสอน วิชาที่ท่านสอนประจำคือ วิชาแปล ไทยเป็นอังกฤษ บางครั้งท่านให้นักเรียนแปลวรรณคดี หรือพงศาวดารประวัติศาสตร์ไทยเป็นอังกฤษ มีคำศัพท์ภาษาไทยยากๆที่นักเรียนไม่เข้าใจ ท่านต้องอธิบายแปลไทยเป็นไทยก่อน นักเรียนถึงแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ และถ้าชั้นเรียนวิชาภาษาไทยขาดครูสอน ท่านสามารถเข้าสอนแทนได้ทันที กล่าวกันว่า ท่านสอนเวสสันดรชาดกได้ดี ไม่แพ้ท่านมหาศุข ครูภาษาไทยของท่าน
บราเดอร์ฮีแลร์เป็นที่รู้จักของสานุศิษย์และผู้ปกครองอย่างกว้างขวาง ดังนั้น ท่านจึงมักได้รับมอบหมายให้ทำงานที่ต้องขอความร่วมมือจากศิษย์เก่าและผู้ปกครองนักเรียนอยู่เสมอ เช่น เมื่อมีแผนสร้างตึกเรียนชื่อ “กอลมเบต์” เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่บาทหลวงกอลมเบต์ (ผู้ก่อตั้งโรงเรียน) ซึ่งถึงแก่กรรมในปีพ.ศ. ๒๔๗๖และเพื่อรองรับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มมากขึ้น บราเดอร์ฮีแลร์รับภาระหาทุนเพื่อใช้ในการก่อสร้าง ท่านต้องเดินทางไปฝรั่งเศษ เพื่อขอรับบริจาคจากผู้ศรัทธา ถึงได้เงินครบจำนวนตามที่ต้องการ ในการเดินทางไปฝรั่งเศษครั้งนี้ ท่านต้องไปเปลี่ยนเรือที่สิงคโปร์ ท่านได้แวะเยี่ยมสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ซึ่งพาครอบครัวลี้ภัยการเมืองมาอยู่ที่สิงคโปร์ ภายหลังเกิดการเปลี่ยบแปลงการปกครองเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕) โดยไม่เกรงกลัวภัยจากคณะผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งติดตามเพ่งเล็งผู้ที่ติดต่อกับเจ้านายชั้นสูงอยู่ ถึงแม้สมเด็จกรมพระยาดำรงฯหมดอำนาจและไร้ตำแหน่งหน้าที่การงาน แต่บราเดอร์ฮีแลร์ยังคงเคารพนับถือและแสดงความกตัญญูรู้คุณ ต่อท่านไม่เปลี่ยนแปลง นับเป็นการกระทำที่น่ายกย่องอย่างยิ่ง
เมื่อ โรงเรียนอัสสัมชัญ เตรียมจัดสร้าง ”อาคารสุวรรณสมโภช” เพื่อเป็นอนุสรณ์การดำเนินกิจการด้านการศึกษาในประเทศไทยของภราดาคณะเซนต์คาเบลียลครบ ๕๐ ปี บราเดอร์ฮีแลร์เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการระดมเงินทุนจากศิษย์เก่าและผู้มีจิตศรัทธา ”อาคารสุวรรณสมโภช” สร้างเสร็จและมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๔ ในวันเปิดอาคาร บราเดอร์ฮีแลร์ดีใจมาก เพราะท่านเป็นหนึ่งเดียวของคณะภราดาชุดแรกที่ยังมีชีวิตอยู่ จุดเด่นของ ”อาคารสุวรรณสมโภช” ก็คือหอประชุมใหญ่ ที่ประดับด้วยประติมากรรมชิ้นใหญ่ ซึ่งนักเรียนอัสสัมชัญเรียกว่า “ประติมากรรมนูนสูง” ซึ่งบราเดอร์ฮีแลร์ริเริ่มให้จัดสร้างขึ้น ท่านเป็นผู้ติดต่อเชิญให้ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบและปั้น โดยให้สื่อความหมายตามบทกลอนที่ท่านแต่งไว้ว่า
จงตื่นเถิดเปิดตาหาความรู้ เรียนคำครูคำพระเจ้าเฝ้าขยัน
จะอุดมสมบัติปัจจุบัน แต่สวรรค์ดีกว่าเราอย่าลืม
ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ได้ทำงานชิ้นนี้อย่างสุดฝีมือ โดยมีลูกศิษย์มาช่วยงาน ๓ ท่าน ซึ่งต่อมาเป็นประติมากรชั้นเยี่ยมของประเทศไทย คือ อาจารย์สิทธิเดช แสงหิรัญ อาจารย์แสวง สงฆ์มั่งมี และอาจารย์ ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ “ประติมากรรมนูนสูง” มีความยาวส่วนล่าง ๖ เมตร ด้านล่างจารึกคำกลอนที่แต่งโดย
บราเดอร์ฮีแลร์ข้างต้น จัดเป็นงานปั้นที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่ง เมื่อมีการรื้อ”อาคารสุวรรณสมโภช” หลังจากใช้งานมานานเกือบ ๕๐ ปี เพื่อสร้างอาคารหลังใหม่ในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ “ประติมากรรมนูนสูง” ก็ถูกรื้อถอนไปประดับที่ห้องประชุมของอาคารหลังใหม่ อยู่คู่กับโรงเรียนอัสสัมชัญจนกระทั่งทุกวันนี้
บราเดอร์ฮีแลร์ทำงานหนักมาตลอด จนปีพ.ศ.๒๔๙๗ เมื่อท่านมีอายุย่างเข้า ๗๓ ปี สุขภาพของท่านเริ่มเสื่อมลง ทางโรงเรียนต้องการให้ท่านเกษียณและพักผ่อน แต่ท่านปฎิเสธที่จะไปอยู่สถานที่พักภราดาชราของคณะเซนต์คาเบรียลที่ซอยทองหล่อ ท่านยืนยันขออยู่ที่โรงเรียนอัสสัมชัญต่อไป เพราะท่านมีความสุขที่ได้อยู่ใกล้ๆนักเรียน ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่เป็นลูกหรือหลานของศิษยานุศิษย์ของท่าน มาสเตอร์เฉิด สุดารา ลูกศิษย์คนหนึ่งของบราเดอร์ฮีแลร์และเคยทำงานร่วมกับท่านที่โรงเรียนอัสสัมชัญมานาน เล่าว่า เคยถามบราเดอร์ฮีแลร์ว่า อายุมากแล้ว ไม่คิดกลับประเทศฝรั่งเศษหรือ ก็ได้คำตอบว่า “อั๊วจะกลับไปทำไม พ่อ แม่ พี่น้องก็ตายหมดแล้ว ที่หมู่บ้านอั๊ว ก็ไม่รู้จักใครอีกเลย อั๊วอยู่เมืองไทยสุขสบายดีเหมือนคนไทยคนหนึ่ง อากาศก็ชิน อาหารก็ชิน รู้จักคนเยอะแยะ ฝรั่งเศษเป็นบ้านเกิด แต่สยามเป็นเมืองนอน และเรือนตาย อั๊วจะฝากกระดูกไว้ในแผ่นดินไทยนี่แหละ”
บราเดอร์ฮีแลร์ป่วยด้วยโรคเบาหวานรุนแรง ถึงขั้นทำให้นัยน์ตาของท่านมืดมัวลง จนในที่สุด มองอะไรไม่เห็นอยู่หลายปี ลูกศิษย์ต่างพากันมาเยี่ยมด้วยความเป็นห่วง โดยที่ความจำและประสาทหูของท่านยังดีอยู่ ได้ยินเสียงลูกศิษย์ ก็จำได้ว่าเป็นใคร ว่ากันว่า ผู้ที่มาเยี่ยมท่านบ่อยๆ เพียงท่านได้ยินเสียงฝีเท้าที่เดินเข้ามาหา ท่านก็ทักทายเรียกชื่อได้ถูกต้อง ในช่วงที่ดวงตาของท่านมืดมิด ทางโรงเรียนด้จัดให้นักเรียนผลัดแปลี่ยนเข้าเวรอ่านหนังสือให้ท่านฟังที่ห้องพัก ท่านยังมีอารมณ์กวีอยู่ โดยแต่งโคลงกลอน แล้วบอกให้นักเรียนจดเก็บไว้
ชะรอยเป็นเพราะกรรมดีที่บราเดอร์ฮีแลร์ได้ทำไว้ ท่านได้รับการรักษาและผ่าตัดเยื่อหุ้มตาโดยนายแพทย์ชุด อยู่สวัสดิ์ แห่งโรงพยาบาลศิริราช จนทำให้นัยน์ตาของท่านกลับมามองเห็นได้ดังเดิม ศิษยานุศิษย์ต่างดีใจมาก จัดงานฉลองรับขวัญท่านอย่างใหญ่โต เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ และอีก ๓ ปี ต่อมา คือ พ.ศ. ๒๕๐๕ ผู้บริหารโรงเรียนอัสสัมชัญ นักเรียน ผู้ปกครองและศิษย์เก่า ได้จัดงานฉลองครั้งใหญ่แก่ท่านอีกครั้งหนึ่ง เนื่องในโอกาสที่ท่านมีอายุ ๘๐ ปี และอยู่เมืองไทยครบ ๖๐ ปี
บราเดอร์ฮีแลร์มีชืวิตบั้นปลายอย่างสงบ ท่านมีความสุขที่ได้ทอดสายตาแลดูนักเรียนอัสสัมชัญที่วิ่งเล่นกันในสนาม วาระสุดท้ายของท่านมาถึง เมื่อท่านหกล้มที่ระเบียงห้องพัก และเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลได้ไม่นาน ก็ถึงแก่กรรมในวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ สิริอายุได้ ๘๗ ปี ศพของท่านถูกเชิญมาตั้ง ณ ห้องประชุมตึกสุวรรณสมโภช (ที่ท่านมีบทบาทสำคัญในการก่อสร้าง) เพื่อให้ศิษยานุศิษย์และผู้ที่เคารพนับถือท่านได้ร่วมไว้อาลัย ก่อนเคลื่อนไปฝัง ณ สุสานของเจษฎาจารย์ บริเวณยุวนิสิตสถาน อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ท่านได้ฝากกระดูกของท่านไว้ในแผ่นดินไทย สมตามเจตจำนงของท่าน
ท่าน ฟ. ฮีแลร์ เป็นภราดาคู่บุญของโรงเรียนอัสสัมชัญโดยแท้ ท่านเป็นภราดาเพียงรูปเดียวที่ไม่เคยถูกย้ายไปสอนโรงเรียนอื่น ในเครือของคณะเซนต์คาเบรียล ซึ่งรับผิดชอบบริหารโรงเรียนหลายแห่งทั่วประเทศไทย นอกจากนี้ ท่านไม่เคยรับตำแหน่งเป็นอธิการหรือรับผิดชอบด้านบริหารของโรงเรียนเลย ทั้งๆที่ท่านมีคุณสมบัติเพรียบพร้อม บราเดอร์ฮีแลร์ พอใจเสียสละอุทิศตน กว่า ๖๐ ปี ด้วยการเป็นเพียง “ครู” ที่ให้ความรู้ อบรมสั่งสอนเยาวชนไทย ให้เป็นทรัพยากรบุคคลที่ดีของไทย โดยไม่หวังผลตอบแทน หรือผลประโยชน์เพื่อตัวเองเลย ท่านรักและเมตตาศิษย์ของท่านโดยไม่ทอดทิ้ง ศิษย์คนใดได้ดี ท่านก็แสดงความยินดีอวยชัยให้พรให้ประสพความสำเร็จยิ่งขึ้น ศิษย์คนใดลำบากเดือดร้อน ท่านก็ให้ความช่วยเหลือจนความลำบากคลายลง
ท่าน ฟ. ฮีแลร์เป็นชาวต่างชาติที่เป็นปูชนียบุคคล ที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยอย่างเอนกอนันต์ ท่านรักและผูกพันกับเมืองไทยมาก โดยท่านเคยกล่าวไว้อย่างน่าประทับใจว่า “ …ครูตั้งใจยึดสยามเป็นเมืองนอนอย่างแท้จริง เพราะสยามเป็นประเทศที่ทำให้ครูได้ทำให้ศิษย์ได้ดี …” ท่านมาเมืองไทยตัวเปล่า แล้วก็ตายจากไปตัวเปล่า คงทิ้งไว้แต่คุณงามความดี ที่จารึกอยู่ในใจของสานุศิษย์และผู้ที่เคารพนับถือท่านไม่รู้ลืม ทำไมหนอ ฝรั่งต่างชาติยังรักเมืองไทย แต่ทำไมคนไทย “บางคน” ไม่คิดรักเมืองไทยบ้างเลย
หมายเหตุ: ชื่อ ฟ.ฮีแลร์นั้น ตัว ฟ คือ F ย่อมาจากภาษาฝรั่งเศษว่า Frere ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Brother แปลเป็นไทยว่า ภราดา หรือ เจษฎาจารย์ ซึ่งเป็นนักบวช ในศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิค ทำหน้าที่หลักทางด้านสอนหนังสือ ส่วนนักบวชที่ทำหน้าที่ทางด้านพิธีกรรมคือ Priest หรือ Father ซึ่งภาษาไทยใช้ว่า บาทหลวง หรือ คุณพ่อ