Blog

พุทธศาสนาง่ายๆ แค่นับ 1 ถึง 8 หลายคนมองพุทธศาสนาเป็นเรื่องยากต่อการเข้าใจ วันนี้ผมเลยลองมาสรุปเรื่องที่สำคัญเกี่ยวกับพุทธศาสนา เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจเหมือนนับเลขจาก 1 ถึง 8

1. นิพพาน นิพพานไม่ได้เกี่ยวกับความตาย นิพพาน คือ ความดับไปแห่งกิเลสทั้งมวล เป็นเป้าหมายสูงสุดแห่งพุทธศาสนา เมื่อไม่มีกิเลส ตัณหาจึงไม่มี ภพ ชาติก็ไม่มี จึงเป็นการหลุดจากวัฏฏสงสาร หรือ การเวียนว่ายตายเกิด

2. สติ สัมปัชชัญญะ

-สติ คือ ความระลึกรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งทางกายและใจ 

-สัมปัชชัญญะ คือ ปัญญา ที่เกิดขึ้นจากการเห็นความจริงของกายและใจ ได้จากการทำวิปัสสนา สัมปัชชัญญะต้องเกิดร่วมกับสติเสมอ

3. ไตรลักษณ์ คือ ความเป็นไปของชีวิต ทุกสิ่งล้วนตกอยู่ในลักษณะ 3 อย่างนี้ คือ ความไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลง เกิด ดับ ตลอดเวลา (อนิจจัง) การถูกบีบคั้นให้เสื่อมสลายไป (ทุกขัง) และความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของตน อยู่เหนืออำนาจการบังคับของตน (อนัตตา)

พูดง่ายๆ คือ ทุกสิ่งเกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัยที่เหมาะสม เมื่อหมดเหตุปัจจัยมันก็ดับ โดยที่เราไม่สามารถบังคับได้

4. อริยสัจ 4 หลายๆ คนเข้าใจว่า

เมื่อมีทุกข์ ต้องละให้ได้ จะได้หมดทุกข์…ไม่ใช่นะ!

ตามหลักอริยสัจ พระพุทธเจ้าบอกว่า

-ทุกข์ ให้รู้

-สมุทัย ให้ละ

-นิโรธ ให้แจ้ง

-มรรค ให้เจริญ

เมื่อมีทุกข์ ต้องไปละที่เหตุแห่งทุกข์

ด้วยวิธีที่ชื่อ มรรค

ทุกข์จึงจะดับไป (นิโรธ)

ผมยกตัวอย่างง่ายๆ

น้ำท่วมขังในห้องน้ำ คือ ทุกข์ (ปัญหา)

ท่อแตก คือ สมุทัย (สาเหตุของปัญหา)

ถ้าจะละที่ตัวทุกข์ ดูดแต่น้ำออก ยังไงน้ำก็ท่วมต่อ

จึงต้องไปแก้ที่ท่อแตก

เปลี่ยนท่อใหม่ คือ มรรค (วิธีแก้ปัญหา)

น้ำไม่ท่วมแล้ว คือ นิโรธ (ปัญหาหมดไป)

5. ขันธ์ 5 ก็คือ ส่วนประกอบของชีวิต 

แบ่งง่ายๆ เป็น 2 ส่วน คือ กาย (รูป) กับ ใจ (นาม) 

กาย = รูป

ใจ = เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

รวม 5 อย่างคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ

ขันธ์ 5 คือ ทุกข์ในอริยสัจ 4 ดังนั้นทุกข์ที่เกิดขึ้นก็คือ ทุกข์กาย กับ ทุกข์ใจ นั่นเอง

ทุกข์กาย ก็คือ ทุกข์ที่เกิดกับรูป ได้แก่ เจ็บไข้ได้ป่วย แก่ ตาย เป็นต้น

ในส่วนของใจ คือ 

-เวทนา หรือ ความรู้สึก เช่น ชอบ ไม่ชอบ หรือ เฉยๆ 

-สัญญา หรือ ความจำ ทั้งอะไรที่จำได้แล้ว และ อะไรที่ยังไม่รู้จักและจะจำต่อไป (ทั้งต้องการและไม่ต้องการจำแต่มันจำเอง)

-สังขาร หรือ การคิด การปรุงแต่งของความรู้สึกและความจำ ทั้งเก่าและใหม่ ผลลัพธ์ของการปรุง ก็คือ กายกรรม วจีกรรม และ มโนกรรม ที่มีทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม

-วิญญาณ คือ สิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับ ความรู้สึก (เวทนา) นึก (สัญญา) คิด (สังขาร) เป็นตัวรับรู้เท่านั้น

ดังนั้นทุกข์ใจ ก็คือทุกข์ที่เกิดกับนาม ได้แก่ ความเศร้าโศก เสียใจ คับแค้นใจ ผิดหวัง คร่ำครวญ โกรธแค้น เป็นต้น 

ปกติเมื่อเราทุกข์กาย ก็จะเป็นทุกข์ใจไปด้วย

บางคนเกิดทุกข์ทางใจ ก็ลามไปทำให้ร่างกายป่วยด้วยก็มี 

6. อยาตนะ 6 จากขันธ์ 5 ในส่วนของรูปทำให้เรามี ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นประตูที่จะรับข้อมูลจากภายนอก เข้าไปสู่ จิตหรือขันธ์อีก 4 ขันธ์เพื่อเอาไปผ่านกระบวนการแปรรูปออกมาเป็นความทุกข์ 

และในส่วนของนาม ก็มีใจ เป็นตัวไปดึงเอาความจำในอดีตหรือการคิดฟุ้งซ่านเรื่องอนาคต มาแปรรูปเป็นทุกข์เช่นกัน

7. โพชฌงค์ 7 คือ ธรรมหรือคุณสมบัติของผู้ที่จะบรรลุธรรม (นิพพาน)

-สติ ความระลึกได้ มีสติอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งทางกายและใจ (สติปัฎฐาน 4)

-ธัมมวิจยะ ความใฝ่หา ศึกษาธรรม

-วิริยะ ความเพียร เพียรสร้างกุศลและละอกุศล

-ปีติ ความอิ่มใจ

-ปัสสัทธิ ความสงบทั้งกายและใจ

-สมาธิ ความมีใจตั้งมั่น เห็นไตรลักษณ์ของขันธ์ 5

-อุเบกขา ความมีใจเป็นกลาง ตามความเป็นจริง

8. มรรค 8 คือหนทางสายกลาง มีสายเดียว ต้องทำให้ครบทั้ง 8 องค์ประกอบ จึงเรียกว่า มรรคมีองค์แปด สามารถจัดรวมเป็น 3 หมวดคือ ศีล สมาธิ และ ปัญญา 

มรรค 8 หรือ ทางสายกลาง เป็นหนทางแห่งการปฏิบัติอันนำไปสู่ความหลุดพ้น (นิพพาน) ประกอบไปด้วย

-สัมมาทิฏฐิ ความเห็น ความเข้าใจที่ถูกต้อง เข้าใจอะไร? หลักๆ ก็คือเข้าใจ อริยสัจ 4 และกิจที่ต้องทำในแต่ละอริยสัจ

-สัมมาสังกัปปะ ความคิดที่ถูกต้อง คิดที่จะพ้นจากวัฏฏะ

สองมรรคนี้อยู่ในหมวด ปัญญา

-สัมมาวาจา การพูดจาที่ถูกต้องเหมาะสม ไม่โกหก ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดให้ผู้อื่นเดือดร้อน หรือ ศีลข้อ 4 นั่นเอง

-สัมมากัมมันตะ การกระทำที่ถูกต้องเหมาะสม ไม่ฆ่าและเบียดเบียนสัตว์ ไมผิดลูกเมีย ไม่กินเหล้าติดยา หรือศีลข้อ 1, 3, และ 5

-สัมมาอาชีวะ การประกอบอาชีพสุขริตและเหมาะสม ไม่เป็นโจร(ศีลข้อ 4)ไม่ขายยาเสพติด อาวุธ และไม่เลี้ยงสัตว์เพื่อฆ่า เป็นต้น

สามมรรคนี้อยู่ในหมวด ศีล

-สัมมาวายามะ ความเพียรในการสร้างกุศลและละอกุศลทั้งปวง

-สัมมาสติ การระลึกได้ มีสติอยู่ที่ กาย เวทนา จิต ธรรม (สติปัฏฐาน 4) สติจะเกิดพร้อมกับกุศลเท่านั้น เมื่อใดขาดสติเมื่อนั้นอกุศลจะเกิด

-สัมมาสมาธิ ความมีใจตั้งมั่นที่ถูกต้องเหมาะสม มีสองอย่างคือ สมถะ ทำเพื่อความสงบ และ วิปัสสนา ทำให้เกิดปัญญา เห็นไตรลักษณ์ของขันธ์ 5

สามมรรคนี้อยู่ในหมวด สมาธิ

สรุปสั้นๆ ง่ายๆ การไปยึดติดว่ากายและใจ หรือ อะไรก็ตาม ว่า เป็นตัวเรา เป็นของเรา ทำให้เราเป็นทุกข์ และที่เราไปยึดติดก็เพราะเราอยากให้มันเป็นแบบที่เราต้องการ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา มันมีเกิดดับเป็นธรรมดาตามเหตุและปัจจัยของมัน

ดังพุทธพจน์ที่ว่า …

“สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย” 

แปลว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เพราะมันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อรู้เข้าใจความจริงของมัน ก็จะไม่ยึดติดถือมั่นสิ่งใดในโลกอีก เท่ากับพ้นจากทุกข์นั่นเอง

ดังนั้นถ้าไม่อยากทุกข์ก็อย่าไปยึดติด วางมันลงซะ พร้อมกับขยันทำความดีและละเว้นการทำชั่วทั้งปวง

จบครับสำหรับ พุทธศาสนาง่ายๆ แค่นับ 1 ถึง 8

ผมได้โพสต์เรื่องนี้ไว้บน Facebook เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2564

ขอบคุณภาพจาก ภาพ: https://pin.it/3V9X0dM





Search

Tag Cloud

Digital Marketing IT OST. ฟ. ฮีแลร์ OST. ฟ. ฮีแลร์ ครูฝรั่งแห่งสยามประเทศ SEM SEO smartphone SMM Strategy UI User Experience UX การขุนปลาเสือตอ การออกแบบเว็บที่ดี การออกแบบเว็บไซต์ การออกแบบเว็บไซต์ที่ดี การเลี้ยงปลาเสือตอ ความหวังในการเพาะพันธุ์ ปลาเสือตอ ความเป็นมาของปลาเสือตอ คุณลักษณะของเว็บไซต์ที่ดี ตู้ปลา ปฏิจจสมุปบาท ประสบการณ์ชีวิต ปลาสวยงาม ปลาเสือตอ ปลาเสือตอพันธุ์ไทย ปลาเสือตอลายคู่ ปลาเสือตอลายใหญ่ ปลาเสือตอเขมร พระมหาชนก พุทธศาสนา ฟ.ฮีแลร์ ครูฝรั่งแห่งสยามประเทศ ภาพยนตร์ ฟ. ฮีแลร์ รัชกาลที่ 9 วิธีดูปลาเสือตอ วิธีเลี้ยงปลาเสือตอ ศาสนาพุทธ องค์ประกอบของเว็บไซต์ที่ดี ฮวงจุ้ย ฮวงจุ้ยที่ทำงาน เหรียญพระมหาชนก เหรียญพระมหาชนกพิมพ์เล็ก เหรียญพระมหาชนกพิมพ์ใหญ่ โรงเรียนอัสสัมชัญ ในหลวง