ชาวพุทธส่วนใหญ่เมื่อถูกถามว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร?
ก็มักจะตอบว่า “อริยสัจ 4”
อริยสัจ 4 คือ เนื้อหาหลักในปฐมเทศนา หรือ ธัมมจักรกัปปวัตรสูตร ที่ได้ทรงแสดงให้กับปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งและเป็นวิธีการแสดงธรรมในอีกรูปแบบหนึ่งของสิ่งที่ทรงตรัสรู้เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ เพราะสิ่งที่ทรงตรัสรู้นั้นลึกซึ้งและเข้าใจได้ยากจึงทรงน้อมที่จะไม่แสดงธรรมแก่เหล่าสรรพสัตว์
ดังนั้นอริยสัจ 4 จึงเป็นคำตอบที่ถูก แต่ไม่ถูกทั้งหมด
แล้ว พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร?
เพื่อตอบคำถามนี้ ขอหยิบบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ที่อยู่ในพระไตรปิฎกมาอ้างอิงดังนี้
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวรรค ภาค ๑ ระบุว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้ใหม่ทรงประทับ ณ โคนไม้ริมฝั่งแม่นํ้าเนรัญชราในตำบล
อุรุเวลา พระองค์ประทับเสวยวิมุตติสุข ณโคนไม้โพธิ์ตลอด ๗ วัน
ในปฐมยามแห่งราตรีทรงพิจารณา ปฏิจจสมุปบาท ธรรมที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุปัจจัย (เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี หมายถึงการเกิดทุกข์ หรือ สมุทยวาร) แล้วทรงเปล่งอุทานว่า
“เมื่อธรรมปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เขาย่อมสิ้นสงสัยเพราะรู้ธรรมพร้อมทั้งต้นเหตุ”
ในเวลามัชฉิมยามแห่งราตรีทรงพิจารณา ปฏิจจสมุปบาท (เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี หมายถึง การดับทุกข์ หรือ นิโรธวาร) แล้วทรงเปล่งอุทานความว่า
“เมื่อธรรมปรากฏแก่พราหณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เขาย่อมสิ้นสงสัย เพราะเมื่อได้ทราบถึงความสิ้นไปแห่งปัจจัย”
ในเวลาปัจฉิมยามแห่งราตรีทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท ทั้งโดยอนุโลม (ตามลำดับ) และโดยปฏิโลม (ย้อนลำดับ)
แล้วทรงเปล่งอุทานความว่า
“เมื่อธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ พราหณ์นั้นย่อมจำกัดมารพร้อมทั้งเสนาเสียได้ดังดวงอาทิตย์ทำให้ฟ้าสว่างฉะนี้ “
(ที่มา https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=04&siri=1)
จะเห็นได้ว่าในเวลาทั้งสามยามนั้นพระพุทธองค์มิได้ทำอย่างอื่นแต่พิจารณาทบทวนสิ่งที่พึ่งทรงตรัสรู้
นั่นคือ ปฏิจจสมุปบาท ฝ่ายเกิดทุกข์ (สมุทยวาร) ฝ่ายดับทุกข์ (นิโรธวาร)
รวมถึงโดยอนุโลม (ตามลำดับ) และปฏิโลม (ย้อนลำดับ)
ในพระไตรปิฎกยังมีพระพุทธพจน์อีกบทหนึ่งที่กล่าวว่า
…. “ภิกษุทั้งหลาย เราได้มีความดำริเกิดขึ้นว่า: ธรรมที่เราได้บรรลุแล้วนี้ เป็นของลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบระงับ ประณีตไม่เป็นวิสัยแห่งตรรก ละเอียด บัณฑิตจึงจะรู้ได้
…. ก็แหละ หมู่ประชานี้ เป็นผู้เริงรมย์อยู่ด้วยอาลัย(ความผูกพัน ยึดติด) ยินดีอยู่ในอาลัย ระเริงอยู่ในอาลัย สำหรับหมู่ประชาผู้เริงรมย์ รื่นระเริงอยู่ในอาลัย (เช่นนี้) ฐานะอันนี้ย่อมเป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก กล่าวคือ หลักอิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท…”
ที่มา : บาลีพระไตรปิฎก
วินย. ๔/๗/๘ ; ม.มู ๑๒/๓๒๑/๓๒๓
(สำนวนแปลของ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต ) จากหนังสือ “พุทธธรรม ฉบับเดิม” หน้า ๘๐)
นอกจากนั้นยังมีพุทธพจน์ที่ว่า…
ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม (มหาหัตถิปโทปมสูตรที่ ๘)
ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา (วักกลิสูตร๑๗/๑๒๙)
ดังนั้นธรรมที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ก็คือ …
ปฏิจจสมุปบาท นั่นเอง
ปฏิจจสมุปบาท คืออะไร?
เป็นธรรมในรูปกฎแห่งธรรมชาติ คือ กระบวนการเกิดขึ้นของทุกข์และการดับไปของทุกข์ ที่แสดงถึง การอาศัยกันของเหตุต่างๆมาเป็นปัจจัยกันแล้วก่อให้เกิดเป็นความทุกข์ขึ้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าธรรมที่แสดงถึงเหตุปัจจัยชนิดต่างๆที่เกิดสืบเนื่องต่อกันและให้เป็นผลลัพธ์ออกมาเป็นทุกข์
หลักสำคัญของปฏิจจสมุปบาทคือการอาศัยกันเกิดขึ้นและดับลงของสิ่งสองสิ่งที่เป็นเหตุและปัจจัยซึ่งกันและกัน
อิมัส๎มิงสะติอิทังโหติ– เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมีอิมัสสุปปาทาอิทังอุปปัชชะติ– เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้นอิมัส๎มิงอะสะติอิทังนะโหติ– เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ย่อมไม่มีอิมัสสะนิโรธาอิทังนิรุชฌะติ– เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงดับไป
นั่นคือปฏิจจสมุปบาทมีสองกระบวนการหลักๆ คือกระบวนการเกิดทุข์ หรือ ที่เรียกกันว่า ปฏิจจสมุปบาทสายเกิด
และกระบวนการดับทุกข์ หรือ ปฏิจจสมุปบาทสายดับ
ปฏิจจสมุปบาทสายเกิดจะเรียงลำดับดังนี้
อะวิชชาปัจจะยาสังขารา– เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารทั้งหลาย
สังขาระปัจจะยาวิญญาณัง– เพราะมีสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ
วิญญาณะปัจจะยานามะรูปัง– เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูปนาม
นามะรูปะปัจจะยาสะฬายะตะนัง– เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ
สะฬายะตะนะปัจจะยาผัสโส– เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ
ผัสสะปัจจะยาเวทะนา– เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา
เวทะนาปัจจะยาตัณหา– เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา
ตัณหาปัจจะยาอุปาทานัง– เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน
อุปาทานะปัจจะยาภะโว– เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ
ภะวะปัจจะยาชาติ– เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ
ชาติปัจจะยาชะรามะระณังโสกะปะริเทวะทุกขะโทมะนัสสุปายาสาสัมภะวันติ– เพราะมีชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะปริเทวะทุกขโทมนัสอุปายาสะทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน
ส่วนปฏิจจสมุปบาทสายดับก็มีองค์ธรรมเหมือนกับสายเกิด
แต่แทนที่จะไล่ว่า เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี ก็จะไล่เป็น เมื่อสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ แทน
โดยเริ่มจาก เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ
เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ไล่ไปเรื่อยๆ จนชรา มรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสะ ดับครบทุกตัว
ความสัมพันธ์ระหว่าง ปฏิจจสมุปบาท กับ อริยสัจ 4
ปฏิจจสมุปบาทคือสภาวะธรรมเปรียบเสมือนทฤษฎี
ส่วนอริยสัจคือหนทางปฏิบัติเพื่อดับวงจรปฏิจจสมุปบาท
ทุกข์ คือ ขันธ์ 5 (กาย กับ ใจ) ในปฏิจจสมุปบาททุกข์กาย ก็คือ ชรามรณะ
ทุกข์ใจก็คือ โสกะปริเทวะทุกขโทมนัสอุปายาสะทั้งหลาย
ในปฏิจจสมุปบาทนั้น อวิชชา ตัณหา อุปาทาน จัดอยู่ในกลุ่มที่เป็นกิเลส
สังขาร และ ภพ จัดเป็นกรรม
กิเลสและกรรมก็คือสมุทัยอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
ส่วน วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ชาติ ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสะ ทั้งหมดนี้คือ วิบาก ซึ่งก็คือทุกข์อันเป็นผลมาจากกิเลสและกรรมนั่นเอง
ดังนั้นสมุทัยกับทุกข์ ก็คือ ปฏิจจสมุปบาทสายเกิด
ในทางกลับกัน มรรค คือ หนทางแห่งความดับทุกข์ เราเจริญมรรคเพื่อดับกิเลส
เมื่อไม่มีกิเลสนั่นคือ อวิชชา ดับลง ตัณหา อุปาทาน ก็ดับ
กรรมก็ดับและทุกข์ก็ดับ นี่คือ…นิโรธ
ดังนั้น มรรคกับนิโรธ ก็คือ ปฏิจจสมุปบาทสายดับ นั่นเอง
นอกจากนั้นในญาณวัตถุสูตร หรือที่เรียกว่าญาณวัตถุ 44
มี่อยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่๑๖ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่๘สังยุตตนิกายนิทานวรรค
ได้กำหนดญาณ (ความรู้) สำหรับปฏิจจสมุปบาทแต่ละตัว
(ขอยกตัวอย่างชราและมรณะ )ไว้ดังนี้
ความรู้ในชราและมรณะ ๑
ความรู้ในเหตุเป็นแดนเกิดแห่งชราและมรณะ ๑
ความรู้ในความดับแห่งชราและมรณะ ๑
ความรู้ในปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งชราและมรณะ ๑
ไล่แบบนี้ไปทุกตัวจนถึง สังขาร (ยกเว้นอวิชชา)
รวม 11 ตัว 44 ญาณ
เมื่อนำญาณทั้ง 4 มาเปรียบเทียบกัยอริยสัจ 4 จะได้ดังนี้
ญาณแรก คือ ทุกข์
ญาณที่สอง คือ สมุทัย
ญาณที่สาม คือ นิโรธ
ญาณที่สี่ คือ มรรค
จากตรงนี้เราจะเห็นได้ว่า กรรม คือ เหตุ และ วิบากหรือทุกข์ คือ ผลของกรรม ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
“สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน มีกรรมเป็นทายาท มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลายให้เลวและดีต่างกัน”
เมื่อเช้าใจปฏิจจสมุปบาท เราจะเห็นได้ว่าชีวิตเราจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับกรรมที่เราทำ หาได้มีเทพเจ้ามาบันดาลหรือใครมากำหนดได้ไม่
สรุปได้ว่า อริยสัจ 4 จึงเป็น version ที่ง่ายขึ้นของสิ่งที่ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ หรือ ปฏิจจสมุปบาท นั่นเอง
ขอบคุณภาพจาก www.wallhere.com