Blog

ขุนเสือตอให้อ้วน เป็นหัวข้อที่เริ่มต้นโพสโดยคุณ Tawatchai Yodmuangในกลุ่ม คนรักปลาเสือตอ บน Facebook ผมจึงขออนุญาตเอามาเรียบเรียงใหม่ รวมถึงหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้มีความสมบูรณ์และอ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น แล้วนำมาโพสไว้ใน Blog ของผมเพื่อให้การค้นหาและเข้าถึงทำได้ง่ายขึ้นสำหรับทุกๆ คน ขอขอบคุณสมาชิกในกลุ่ม คนรักปลาเสือตอ ที่แบ่งปันความรู้จากประสบการณ์ส่วนตัว เพื่อเป็นแนวทางให้กับเพื่อนๆ มือใหม่หัดเลี้ยง และ เพื่อเป็นการช่วยอนุรักษ์ปลาเสือตอไปด้วยในเวลาเดียวกันด้วย

ขุนเสือตอให้อ้วน หลายๆ คนบอกว่า ก็แค่กินเยอะๆ มันก็อ้วนเองแหละ … ใช่ครับ แต่อ้วนแบบแข็งแรง ไม่ป่วย ไม่ไข้ คงไม่ง่ายขนาดนั้น

ตัวอย่างคำถามที่เกิดขึ้นคือ จะเลี้ยงด้วยอะไรดี ต้องเลี้ยงมากและบ่อยแค่ไหน? แล้วน้ำล่ะ … ต้องเปลี่ยนบ่อยมั๊ย? น้ำลึก น้ำตื้น มีผลมั๊ย? น้ำเย็นไป อุ่นไปจะเกิดอะไรขึ้น? แล้วสภาพแวดล้อมอื่นๆ ล่ะ มืดหรือสว่างดีกว่า? เป็นต้น

เพื่อตอบคำถามเหล่านั้นและเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ขอแยกเป็น 3 หัวข้อดังนี้ :

1. น้ำ

– ยิ่งลึก ก็ยิ่งดี เนื่องความลึกของน้ำมีผลต่อรูปทรงของปลาเสือตอ  (ตามธรรมชาติของปลาเสือตอจะชอบอาศัยตามแหล่งน้ำไหล ที่มีความลึกประมาณ 2-5 เมตร) เมื่อเรานำมาเลี้ยงในตู้หรือบ่อ เราไม่สามารถทำให้ลึกขนาด 2 เมตรได้ .. ดังนั้นขอให้น้ำลึกที่สุดเท่าที่จะลึกได้ครับ

– ความสะอาดของน้ำ แน่นอน..ไม่ใช่แค่จะอ้วนหรือไม่อ้วน แต่ความสะอาดของน้ำส่งผลให้ปลา โตหรือไม่โต สวยหรือไม่สวย ป่วยหรือไม่ป่วย และ ตายหรือไม่ตาย ได้เลยทีเดียว จึงควรทำการเปลี่ยนน้ำควรทำเป็นประจำ บางคนทำทุกวัน บางคนทำทุก 2, 3, หรือ กี่วันก็ตาม การทำบ่อยก็ลดปริมาณน้ำในการเปลี่ยนแต่ละครั้งลง เช่นเปลี่ยนน้ำทุกวันวันละ 10 % ถ้าเปลี่ยนทุก 2 วันก็เปลี่ยน 20% เป็นต้น จะเปลี่ยนมากน้อย บ่อยขนาดไหน ขอให้ดูว่านำสกปรก หรือ เหม็น ขนาดไหน สกปรกมากก็เปลี่ยนให้ถี่ขึ้นหรือปริมาณมากขึ้น อ้อ.. อย่าลืมทำความสะอาดอุปกรณ์กรองน้ำเป็นระยะๆ ด้วยนะครับ

-สิ่งที่ต้องระวังคือเวลาเปลี่ยนน้ำ น้ำใหม่ควรจะผ่านการลดเชื้อคลอรีน และ อุณหภูมิต้องไม่ต่างจากน้ำเก่าในตู้หรือบ่อมากเกินไป (ไม่ควรต่างกันเกิน 3 องศาเซลเซียส) เพราะจะทำให้ปลาน็อคน้ำและอาจตายได้

2. อาหาร

-เสือตอเป็นปลาล่าเหยื่อในธรรมชาติจับกินเหยื่อที่มีชีวิตเป็นอาหาร ดังนั้นต้องเน้นที่อาหารสดและสะอาด

-สามารถหัดให้กินเหยื่อตายได้ เช่น กุ้งแช่แข็ง กุ้งชิ้น เนื้อปลาชิ้น หากหัดให้กินกุ้งฝอยตายควรเริ่มจาก ผสมกุ้งตายกับกุ้งเป็นและค่อยๆ เพิ่มอัตราส่วนกุ้งตายให้มากขึ้นเรื่อยๆ จนเหลือแต่กุ้งตายอย่างเดียว

-เสือตอเป็นปลาล่าเหยื่อลำไส้สั้นกิน เยอะและหิวในเวลาไม่นาน ควรให้กินจนอิ่มทุกๆวัน แต่ในหนึ่งอาทิตย์อาจจะมีสักวันที่ไม่ให้อาหาร ซึ่งอาจจะเป็นวันที่เปลี่ยนถ่ายน้ำ และในวันรุ่งขึ้นก็เป็นวันที่ให้อาหาร+วิตามินครับ

-การให้อาหารสักวันละมื้อ ในปริมาณที่กินหมดไม่มีเหลือทิ้งในตู้ จะช่วยสร้างความสำพันธ์ระหว่างคนกับปลาได้ด้วย เมื่อปลาเห็นเราก็ว่ายออกมาขออาหาร ไม่ทำตัวดำและหลบตามขอบตู้หรือใต้ขอนไม้

-ปริมาณและประเภทของอาหารที่ให้ควรเหมาะสมกับปลาตามขนาดและวัย  ไม่ควรทิ้งไว้เยอะๆ เพื่อที่ปลาจะได้กินเรื่อยๆ หรือให้เยอะเผื่อไว้เพราะเราจะไม่อยู่  ควรได้ให้เป็นมื้อๆ เพราะว่าหากให้กินเอง หิวก็กิน จะทำให้ปลาไม่ออกมาว่ายน้ำ เนื่องจากอิ่มและทำตัวดำข้างตู้

-กุ้งฝอย เหมาะกับปลาที่หวังเพาะพันธุ์ เพราะจะช่วยสร้างไข่และน้ำเชื้อ ปลาได้รับแคลเซี่ยม และทำให้ปลามีสีสันดี ข้อด้อยเก็บรักษายาก ทำให้น้ำขุ่นและเสียเร็ว อันตรายที่อาจเกิดจากกรีกุ้ง

-ปลานิล ราคาถูก หาซื้อง่าย มีโปรตีนสูง เก็บรักษาได้นานข้อด้อย โรคตามๆที่มากับปลานิลครีบหลังแข็งอาจเกิดอันตรายได้

-ปลาดุก มี โปรตีนสูงที่สุด จับกินง่าย สามารถให้วิตามินหรือสารอาหารผ่านทางเหยื่อได้ง่าย ข้อด้อย ต้องเป็นขนาดเล็กจริงๆ ไม่อย่างนั้นอาจเกิดอันตรายจากเงี่ยงปลาดุก

ขุนเสือตอให้อ้วน

(ขอบคุณภาพจากคุณ Pong Jira‎)

3. สภาพแวดล้อม

– อุณหภูมิของน้ำที่เหมาะสมในการเลี้ยงปลาเสือตออยู่ที่ 28 – 32 องศาเซลเซียสครับ หากเย็นไปปลาเริ่มคันถูตัว หากร้อนไปปลาจะหอบพิงข้างตู้ไม่ว่ายครับ หน้าหนาวปลาจะกินน้อยลง ควรลดปริมาณการให้อาหารลง

– ตู้ปลาที่ใช้จะใสหรือขาวได้ทั้งนั้นครับเพราะเป็นสีโทนสว่าง ห้ามทำตู้ หรือ แต่งตู้ให้ดูทึบมืดเพราะมันจะเข้ากับนิสัยของปลาเสือตออินโดคือกินอิ่มแล้วจะหาที่แอบซ่อนตัว

– ส่วนไฟที่ใช้ขอให้ใช้ไฟสีขาวเพราะจะได้ทำให้ตู้ปลาสว่างครับ การเปิดปิดไฟมีผลต่อปลาให้สลับหรือเปิดปิดไฟตู้ปลาให้เขาชินกับแสงสว่างของตู้  ไม่ใช่เราเลี้ยงในที่มืดหรือไม่เคยเปิดไฟเลย ปลาจะตกใจเวลาเราเปิดไฟวิ่งชนตู้บ้าง ขอนไม้ในตู้บางทำให้ได้รับบาดเจ็บและตัวดำ

-จำนวนปลาไม่ควรแน่นเกินไป ถ้าแน่นเกินไป ปลาจะเครียด กินอาหารน้อย และตัวไม่โต ขอให้ดูตามความเหมาะสมครับ อย่าลืมว่าปลาเสือตอสามารถใหญ่ได้เกิน 20 นิ้ว ฉะนั้นพื้นที่ที่ปลารู้สึกสบายไม่อึดอัดเวลาตัวใหญ่ๆ จะอยู่ที่ 1 ตัวต่อตู้ 48 นิ้ว ครับ ตอนเล็กๆ ก็เลี้ยงรวมกันหลายๆ ตัวได้ แต่เมื่อตัวใหญ่แล้วต้องพิจารณาลดจำนวนปลา หรือ เปลี่ยนตู้ใหญ่ขึ้น กันอีกทีครับ

ลองไปทำดูครับ ได้ผลดีร้ายยังไง เอามาแบ่งปันให้เพื่อนได้รู้กันด้วยนะครับ

ขอขอบคุณ : คุณ Tawatchai Yodmuang, คุณ วัชระ บัวเอี่ยม,  คุณ Mofish_6, ภาพจาก www.ninekaow.com





Search

Tag Cloud

Digital Marketing IT OST. ฟ. ฮีแลร์ OST. ฟ. ฮีแลร์ ครูฝรั่งแห่งสยามประเทศ SEM SEO smartphone SMM Strategy UI User Experience UX การขุนปลาเสือตอ การออกแบบเว็บที่ดี การออกแบบเว็บไซต์ การออกแบบเว็บไซต์ที่ดี การเลี้ยงปลาเสือตอ ความหวังในการเพาะพันธุ์ ปลาเสือตอ ความเป็นมาของปลาเสือตอ คุณลักษณะของเว็บไซต์ที่ดี ตู้ปลา ปฏิจจสมุปบาท ประสบการณ์ชีวิต ปลาสวยงาม ปลาเสือตอ ปลาเสือตอพันธุ์ไทย ปลาเสือตอลายคู่ ปลาเสือตอลายใหญ่ ปลาเสือตอเขมร พระมหาชนก พุทธศาสนา ฟ.ฮีแลร์ ครูฝรั่งแห่งสยามประเทศ ภาพยนตร์ ฟ. ฮีแลร์ รัชกาลที่ 9 วิธีดูปลาเสือตอ วิธีเลี้ยงปลาเสือตอ ศาสนาพุทธ องค์ประกอบของเว็บไซต์ที่ดี ฮวงจุ้ย ฮวงจุ้ยที่ทำงาน เหรียญพระมหาชนก เหรียญพระมหาชนกพิมพ์เล็ก เหรียญพระมหาชนกพิมพ์ใหญ่ โรงเรียนอัสสัมชัญ ในหลวง