ปลาเสือตอ ตอนที่ 1 … ความเป็นมา
โดยคุณ mofish_6 บนเว็บ pantown.com
ผมพึ่งเริ่มเลี้ยง “ปลาเสือตอ” ได้ไม่นาน ซึ่งก็เป็นปกติของคนเล่นปลาที่จะพยายามหาความรู้เกี่ยวกับปลาที่เราเลี้ยง เลยไปเจอข้อมูลเกี่ยวกับปลาเสือตอที่เรียกว่าสมบูรณ์ที่สุดที่เคยเจอมาจากเว็บ pantown.com ซึ่งคุณโมฟิช หรือที่รู้จักกันในนาม mofish_6 ผู้ที่คนในวงการยกย่องให้เป็นเทพแห่งปลาเสือตอเป็นผู้เขียนไว้ตั้งแต่ปี 2552 แต่ผมว่าข้อมูลยังคงน่าสนใจและไม่ตกยุค เลยเอามาแบ่งเป็นตอนๆ ไว้อ่านกัน
สวัสดีครับ เพื่อนๆพี่ๆทุกท่าน… กระทู้นี้ถือเป็นกระทู้เกี่ยวกับปลาเสือตอ ที่ใช้เวลาทำนานมากๆ กระทู้หนึ่งเลยทีเดียว โดยมีความตั้งใจ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ที่รัก และเลี้ยงเสือตอทั่วไป จะเห็นได้ว่ากระทั่งชื่อเรื่องก็ตั้งแบบเรียบง่ายเพียงแค่ว่า “ปลาเสือตอ” เพื่อหวังให้ผู้ที่ต้องการหาข้อมูลเกี่ยวกับปลาเสือตอนั้น พบเจอได้ง่ายเมื่อ Search หาในGoogle เช่นเดียวกับที่ผมเคยหาข้อมูลเรื่องเสือตอในเวปเมื่อสมัยก่อนตอนผมเลี้ยง ใหม่ๆ สมัยนั้นข้อมูลยังน้อยกว่าเดี๋ยวนี้มาก มีทั้งถูกๆผิดๆ เก่าๆใหม่ๆ บางส่วนก็เชื่อถือไม่ได้นัก ก็ว่ากันไปยังไงก็ตามแต่ ขอออกตัวก่อนว่า อย่าเชื่อผมทั้งหมดนะครับ ผมไม่ใช่เทพ เป็นเพียงแต่ผู้ที่รวบรวมข้อมูล คัดกรอง แล้วเอามาบอกต่อกันฟังเท่านั้นครับ และสำหรับรูปภาพประกอบบางรูป ต้องขออนุญาติท่านเจ้าของภาพมาในที่นี้ด้วยนะครับ
หวังอย่างยิ่งว่า บทความนี้จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยสำหรับผู้เลี้ยงเสือตอทุกท่าน หากมีข้อผิดพลาดประการใดขออภัยมาในที่นี้ และให้ถือเป็นความผิดของกระผมแต่เพียงผู้เดียว แต่ถ้าจะมีความดีอยู่บ้าง ขอยกความดีทั้งหมดให้กับครูบาอาจารย์ทุกท่าน และคุณพ่อคุณแม่ สวัสดีครับ ^_^ mofish_6
ความเป็นมาเป็นไป ของปลาเสือตอและด้านการตลาด
ในอดีต ปลาเสือตอลายใหญ่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้งเป็นปลาเนื้อเพื่อบริโภคและขายเป็นปลาสวยงามโดยพบมากในบึงบอระเพชร จังหวัดนครสวรรค์ แต่หลังจากปี พ.ศ.2520 ปลาเสือตอเริ่มลดปริมาณลงอย่างมากและต่อเนื่อง ทั้งที่ในปี พ.ศ. 2515 มีรายงานการจับถึง 9000 กิโลกรัม(ข้อมูลจากนักวิชาการประมงบึงนครสวรรค์) เหตุผลที่ปริมาณลดลงคาดว่ามาจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศภายในบึงโดยฝีมือ มนุษย์ ความนิยมบริโภคปลาเสือตอ การจับปลาที่เป็นเหยื่อตามธรรมชาติของปลาเสือตอเกินขีดจำกัด การทำประมงที่ขาดจิตสำนึก เช่นการใช้ระเบิด การใช้ยาเบื่อเมา การจับปลาในฤดูวางไข่ มลพิษทางน้ำจากการทำเกษตรกรรมและอุสาหกรรม การปล่อยปลาชนิดอื่นๆที่ไม่มีอยู่เดิมลงไปในบึง และความนิยมปลาเสือตอเป็นปลาสวยงามเพิ่มขึ้น จากความต้องการทั้งในและนอนประเทศ ส่งผลให้มีการล่าจับลูกปลาอย่างต่อเนื่อง รายงานการพบปลาเสือตออย่างเป็นทางการครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2529 โดยชาวบ้านที่มีอาชีพประมง แต่เสือตอตัวนั้นก็ตายก่อนที่นักวิชาการประมงจะไปถึง
ด้วยความต้องการปลาเสือตอเพื่อเลี้ยงเป็นปลาสวยเพื่อมากขึ้น แต่ไม่มีปลาป้อนสู่ตลาด ผู้ส่งออกปลาสวยงามและพ่อค้าปลาสวยงามจึงเริ่มเสาะหาแหล่งที่อยู่อาศัยใหม่ๆ ในต่างประเทศ ครั้งหนึ่งมีซากปลาเสือตอลายใหญ่ ติดมากับปลาเนื้อทั่วไปจากประเทศกัมพูชาเรื่องนี้ทราบถึงหูผู้ค้าปลาสวยงาม จึงมีการส่งคนเข้าไปเพื่อเสาะหาปลาเสือตอลายใหญ่ แล้วก็พบว่าในทะเลสาบเขมร (โตนเลสาป) เป็นแหล่งที่มีปลาเสือตออยู่อย่างชุกชุม มีการรวบรวมลูกปลาซึ่งจับได้ง่ายกว่าปลาใหญ่ รวบรวมจนได้จำนวนแล้วส่ง มายังประเทศไทยครั้งละหลายพันตัว โดยประเทศไทยก็จะทำหน้าที่กระจายปลาสู่ประเทศต่าง ทั้งญี่ปุ่น จีน เกาหลีอีกทอดหนึ่ง ซึ่งในช่างเวลานั้นต่างประเทศยังเข้าใจว่าปลาทั้งหมดเป็นปลาที่ได้มาจาก แหล่งน้ำธรรมชาติของไทย
ช่วงเวลานี้มีปลาเสือตอลายคู่เริ่มปรากฏให้เห็น แม้จะมีปริมาณไม่มาก กระนั้นในช่วงแรกนั้นยังไม่เป็นที่ยอมรับ เนื่องจากผู้เลี้ยงยึดติด กับลักษณะลายเดิมๆ จึงทำให้ปลาเสือตอลายคู่ที่มาจากเขมรมีราคาถูกผู้จับถึงขนาดต้องยัดเยียดขาย ให้กับผู้ซื้อ เช่นแอบปนมากับถุงปลาเสือตอลายใหญ่(ถุงละร้อยตัวมีลายคู่ปนมาสิบตัว) หลังจากนั้นไม่นานเหตุก็เกิดกลับตาระปัดกลุ่มผู้เลี้ยงเริ่มเข้าใจว่าเสือตอ ลายคู่ก็คือเสือตอเช่นกัน และยังมีจำนวนน้อยกว่า ตลอดจนนิยมความสวยงามของเสือตอลายคู่มากขึ้นจนราคาแพงขึ้นเป็นเท่าตัวของปลา เสือตอลายใหญ่ ความลับไม่มีในโลกฉันใดก็ฉันนั้น ในช่วงนี้เองเริ่มมีผู้รู้ และเข้าถึงแหล่งปลาที่เขมรมากขึ้นเรื่อยๆ มีการเข้าไปเสนอราคาตัดหน้ากันเองมากขึ้นจนผู้จับเริ่มเล่นตัวและโก่งราคา ให้แพงขึ้นเรื่อยๆ ซ้ำร้ายเรื่องแหล่งปลาเสือตอในเขมรนี้ยังหลุดไปถึงหูผู้ซื้อปลาจากต่าง ประเทศจึงทำให้ทั้งจากญี่ปุ่น จีนเกาหลีพากันไปรับซื้อถึงแหล่งโดยไม่ให้พ่อค้าปลาไทยหลอกกินหัวคิวอีกต่อ ไป และแล้วการจับที่บ้าคลั่งก็เริ่มขึ้นในแหล่งใหม่ ขับเคลื่อนด้วยเงินและความโลภ
แม้จะมีเยอะเท่าไรก็ไม่พอ ปลาเริ่มลดจำนวนลงอย่างชัดเจน ปลาเสือตอในประเทศไทยก็แพงขึ้นจากหลักสิบเป็นหลักร้อย ช่วงนี้เริ่มมีการพบเสือตอลายใหญ่(ไม่แน่ในว่ามีลายคู่รึป่าว)ในประเทศ เวียดนามแม้จะไม่มากเท่าในเขมร ทั้งหมดถูกรวบรวมตรีตราว่ามาจากเขมรที่เดียวเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนใน กลุ่มผู้เลี้ยง เหมือนสวรรค์จะเป็นใจ ในขณะที่ปลาเสือตอจากทั้งภูมิภาคนี้ลดลงอย่างรวดเร็ว กลับมีการนำเข้าปลาเสือตอจากแหล่งใหม่สดๆซิ่งๆ เสือตออินโดนั่นเองDatnioides microlepis เสือตอจากแหล่งใหม่นี้ดูผ่านๆแล้วก็ไม่ต่างจากปลาที่มาจากแหล่งเดิมเท่าไหร่ นัก ที่สำคัญปลาจากอินโดนั้นมีลักษณะลายคู่จำนวนมาก พ่อค้าไทยตอนนั้นตีปีกกันพับๆ เนื่องจากลายคู่ในช่วงนั้นราคายังสูงอยู่ ผู้เลี้ยงก็แยกความแต่งต่างไม่ออก และต้นทุนปลาเสือตอทั้งลายคู่และลายใหญ่จากประเทศอินโดนิเซียนั้นก็ไม่แพง เท่าไหร่ ในช่วงต่อมาความจริงเริ่มปรากฏเมื่อปลาลายคู่ที่ผู้เลี้ยงซื้อไปนั้นโตขึ้น มาไม่สวยเหมือนเก่าดำๆด่างๆขี้กลัว ทำให้ผู้นิยมปลาเสือตอลายคู่เริ่มจะถอดใจ และราคาปลาเสือตอลายคู่ก็ดึ่งลงเหว ประกอบกับช่วงนั้นมีการออกกฎหมายให้ปลาเสือตอลายใหญ่อยู่ในบัญชีสัตว์ปลา คุ้มครองคุ้มชนิดเพาะพันธุ์ได้ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ปลา พ.ศ.2535 โดยบัญญัติไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ 10 ลงวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2540 ก็ไม่น่าแปลก อะไรที่ห้ามคนยิ่งชอบ หรือจะด้วยการเริ่มตระหนักถึงความหายากของปลาชนิดนี้ แต่กระนั้นก็ทำให้ปลาเสือตอลายใหญ่กลับมามีราคาแพงกว่าลายคู่อีกครั้งหนึ่ง
กระทั่งประมาณปี 2547 เสือตอทั้งลายใหญ่ลายคู่-อินโดเขมร ทั้งหมดก็วางขายรวมกันโดยที่ผู้ซื้อส่วนใหญ่ไม่สามารถแยกความแต่งต่างได้ รู้แต่เพียงว่าลายใหญ่แพงกว่าลายคู่เท่านั้น ในช่วงนี้ราคาเสือตอลายใหญ่ขนาด 2-3นิ้วขี้เหล่ๆตัวหนึ่งอยู่ราว 700 บาท ที่สวยๆก็มีราคาถึง 1500 บาท ส่วนเสือตอลายคู่ทั้งเขมรและอินโดขนาดเดียวกันราคาอยู่ที่ 550-750 บาท ส่วนตัวผมจำได้ว่าครั้งหนึ่งในปี 2547 ได้ซื้อเสือตอลายคู่จากตลาดปลาสนามหลวงสองมา4ตัว จากตู้เดียวกัน ในราคาตัวละ 650 บาทโดยสี่ตัวนี้มีลายคู่เขมร 2 ลายคู่อินโด 2 ตัว โดยที่ไม่รู้ตัวเลยว่าปีนี้จะเป็นปีสุดท้ายที่จะมีเสือตอเล็กๆมาให้คัดให้ เลือกซื้อ
ต่อมาในปีพ.ศ.2548 เสือตอก็หายไปซะเฉยๆ ไม่มีการนำเข้ามาเช่นทุกปี หลายคนคิดว่าเป็นการกักตุนปลาโดยพ่อค้าเพื่อทำกำไร ไม่ก็ว่าต่างชาติเหมาไปหมด จะมีกี่คนที่คิดว่าเป็นเพราะมันหมดจริงๆ ปีแล้วปีเล่าที่เฝ้าคอยปลาเสือตอไซร์เล็กๆก็ไม่มีเข้ามาซักที เป็นเพราะอะไรไม่มีใครตอบได้ ได้แต่คาดเดาสาเหตุ การสร้างเขื่อนในประเทศจีนทำให้น้ำขึ้นน้ำลงไม่ตรงตามฤดูกาล? การที่โลกร้อนขึ้นรึป่าว? ก็มีส่วน แต่โดยส่วนตัวคิดว่า สาเหตุที่เสือตอเขมรลดจำนวนลงเหตุผลก็ไม่ได้ต่างจากประเทศไทยในอดีตนั่นเอง การจับปลามากเกินไป เราจะคาดหวังอะไร? ให้ประชาชนเค้าจับปลาอย่างมีจิตสำนึกหรือ ในเมื่อประเทศไทยยังไม่สามารถทำได้เลย ประชาชนที่นั่นจนกว่าเรา ด้อยพัฒนากว่าเรามากมาย กอบโกยได้เท่าไหร่เค้าก็ต้องเอา จะตัวเล็กตัวใหญ่ ฤดูว่างไข่ แน่นอนว่าไม่สน กินเหลือทำปลาร้า หรือปลากระมอก(ตากแห้งรมควัน) ขาย
ปลาเสือตอที่ทะเลสาบเขมร มิใช่ว่าสูญพันธ์เสียแล้ว เพียงแต่ไม่คุ้มที่จะทำเป็นอาชีพได้เหมือนแต่ก่อน หากมั่วแต่จะรอจับแต่เสือตอขายรับรองว่าชาวประมงคนนั้น ตัวเองและลูกเมียต้องอดตายแน่นอน ปีนึงหากโชคดีอาจจะได้ซัก3-4ตัว ท่านไหนมีเส้นมีสาย มีเงินมีเวลา ก็ลองดูนะครับ
ปี 2550 หลังจากไม่มีปลาเสือตอเข้ามา 2 ปีเสือตอที่มีอยู่เดิมในตลาดราคาถีบตัวสูงอย่างน่าตกใจ จาก 3500 เป็น 5000 จาก 5000 เป็น 10000และไม่มีทีท่าว่าจะหยุด ในช่วงนี้ช่องทางการสื่อสารทางอินเตอร์เนท หรือตลาดซื้อขายปลาออนไลน์ เริ่มตื่นตัวอย่างมาก เมื่อเสือตออินโดเข้ามาสู่ตลาดปลาสวยงามบ้านเราอีกครั้งหนึ่ง โดยครั้งนี้ปลาส่วนใหญ่เป็นเสือตอลายใหญ่ ซึ่งทำให้เกิดความสับสนในผู้เลี้ยงมากมายเรื่องการแยกแยะสายพันธุ์ระหว่าง เสือตออินโดและเสือตอเขมร ซึ่งนำไปสู่การแสวงหาความรู้ใหม่ๆ การพิจารณาจุดสังเกตต่างๆ เสือตออินโดที่เข้ามาช่วงแรก ขนาด 1-2 นิ้วมีราคาตัวละ 500 บาท และสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็เพียงแค่ปีเดียว หลังจากปลายปี 2551 ปลาเสือตออินโดก็ทำท่าจะหายไปจากตลาดปลาสวยงามเช่นเดียวกับเสือตอเขมร
สาเหตุหนึ่งเพราะเสือตอไม่สามารถวางขายตามตลาดปลาทั่วไปได้เนื่องจากผิด กฎหมาย การซื้อขายปลาเสือตอทางเวปไซต์จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ปลอดภัยในขณะนั้น ในช่วงนี้ความนิยมปลาเสือตอได้เข้าสู่กลุ่มผู้เลี้ยงหน้าใหม่ที่เป็นวัยรุ่น ที่มีความสามารถเล่นและเปิดดูอินเตอร์เนทได้ นอกจากจะใช้เป็นช่องทางหาซื้อปลาแล้ว ผู้เลี้ยงกลุ่มนี้ยังช่างสังเกต ตระตือลือล้นที่จะแสวงหาความรู้ เกี่ยวกับปลาเสือตอ จากอินเตอร์เนท จนได้แนวคิดใหม่ๆหลายต่อหลายอย่าง วิธีการเลี้ยงและดูแลปลาเสือตอ ตลอดจนวิธีสังเกตสายพันธุ์มากมายจนถึงทุกวันนี้
ปัจจุบัน 2552 ราคาเสือตออยู่ที่ 10,000 บาทขึ้นไปถึง หลายหมื่นบาทตามแต่ความสวยงาม ปลาจำนวนไม่มากนักวนเวียนเปลี่ยนมือกันไปมา แน่นอนว่าจำนวนก็ลดลงเรื่อยๆเมื่อปลาตายลงไป แต่ไม่มีปลาใหม่เข้ามา การกำหนดราคามักขึ้นอยู่กับความสวยงามของปลาเป็นอันดับแรก ปลาที่สีเหลืองลายดีและทรงอ้วนกลมจะเป็นที่นิยม จะมีราคาที่สูงเป็นเท่าตัวกับปลาที่ไม่สวยแม้จะมีขนาดเท่ากัน เนื่องจากทุกวันนี้ ผู้เลี้ยงส่วนใหญ่มีความรู้และรสนิยมในการดูปลาสวย เช่นเดียวกันหมด อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจในปีนี้ก็คือ มีความตื่นตัวจากทั้งภาครัฐและเอกชนที่ต้องการเพาะพันธุ์ปลาเสือตอเขมรให้ สำเร็จ มีการเสนอข่าวให้ประชาชนสนใจปลาเสือตอมากขึ้นตลอดจน จัดสัมมนาให้ความรู้กับเอกชนในเรื่องความพยามเพาะพันธุ์ปลาเสือตอโดยกรม ประมง มีความต้องการแสวงหาความร่วมมือกันระหว่างกรมประมงและเอกชน แต่ปัญหาที่ยังขวางกั้นอยู่ก็คือทางด้านกฎหมายคุ้มครองปลาเสือตอ ซึ่งหากสำเร็จคาดว่าจะทำรายได้ให้กับเกษตรกรและประเทศชาติอย่างมากมาย
ขอขอบคุณ : Mofish_6 ผู้เขียนบทความนี้
ที่มา : pantown.com