ปลาเสือตอหอบ โรคที่เป็นอีกหนึ่งภัยร้าย ที่พรากชีวิตปลาเสือตอไปแล้วเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน ซึ่งโรคหอบในปลาเสือตอเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้บ่อยๆ แต่เมื่อเป็นแล้วกลับรักษาให้หายได้ยาก ส่วนมากมักจะไม่รอด หลังจากที่ได้อ่านข้อมูลที่คุณ Dhanakrit Choonhachatchawankun ได้แชร์เรื่อง เตือนภัย โรคหอบเสือตอในกลุ่ม คนรักปลาเสือตอ ผมก็ได้ไปศึกษา หาข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้เพิ่มเติม จึงอยากแนะนำเพื่อนๆ ให้รู้จักโรค ปลาเสือตอหอบ ว่ามันมีสาเหตุมาจากอะไร และจะมีวิธีป้องกัน รักษาได้อย่างไร
อาการของโรค ปลาเสือตอหอบ
ปลาตัวไหนที่ป่วยเป็นโรคนี้ เราสามารถสังเกตุได้ จากพฤติกรรมที่ผิดเพี้ยนไปจากพฤติกรรมตามธรรมชาติของ ปลาเสือตอ รวมถึงสังเกตูจากลักษณะทางกายภาพที่ผิดปกติ ได้ง่ายๆ ดังนี้ :
- โดยธรรมชาติของ ปลาเสือตอ จะไม่ลอยที่ผิวน้ำ มักชอบว่ายอยู่ใต้น้ำ หรือ หลบอยู่ตามตอไม้ มันจะออกมาก็ต่อเมื่อ มาหาอาหาร หรือ มีภัยคุกคาม ซึ่งหนึ่งในอาการของโรค ปลาเสือตอหอบ คือ จะออกมา ว่ายน้ำโชว์ตัว อย่างไม่อายและเกรงกลัวใดๆตัวที่มีอาการหนักๆ ก็จะ ลอยอยู่ที่ผิวน้ำ เลยทีเดียว
- ลักษณะการหายใจ (เหมือนกับคนหอบ) ลักษณะคือ หายใจแรง เหงือกอ้าและมีรอยช้ำ ส่วน ปากจะอ้า หุบไม่ลง
- ลักษณะทางกายภาพ ที่สามารถสังเกตุได้คือ “สี” เมื่อ ปลาเสือตอ ป่วยเป็นโรคหอบ ตัวที่ปกติมีสีดำๆ หรือ ตัวที่สีไม่นิ่ง เดี๋ยวดำเดี๋ยวเหลืองตามอารมณ์ จะเกิดปรากฏการณ์ สีนิ่ง เหลืองสวยเลยทีเดียว แต่ .. อย่าดีใจไปนะครับ เพราะนี่ คือ อาการของโรคหอบอย่างชัดเจน
- จุดที่สังเกตุได้อีกอย่างคือมี ขี้ขาวๆ ติดอยู่ที่รูทวารหนัก (ขอบคุณข้อมูลจาก คุณ Thanakrit Choonhachatchawankun)
(ขอบคุณภาพ ปลาเสือตอหอบ(ตาย) จาก www.ninekaow.com)
สาเหตุของโรคปลาเสือตอหอบ
สาเหตุของโรคนี้ จะว่าไปแล้วมันก็คือพื้นฐานในการเลี้ยงปลาให้มีสุขภาพดีโดยทั่วๆ ไปนั่นแหละครับ เมื่อใดก็ตาม หากองค์ประกอบใดไม่สมบูรณ์ ย่อมจะมีผลต่อสุขภาพของปลาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โรค ปลาเสือตอหอบ เกิดมาจากสาเหตุดังต่อไปนี้ :
- อุณหภูมิที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วของน้ำ อันมีสาเหตุมากจากสภาพแวดล้อม ปลาเสือตอก็เหมือนคนนั่นแหละครับ ถ้าอากาศเปลี่ยนบ่อยๆ เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว เราก็จะเป็นไข้ได้ง่ายๆ แต่ปลาเสือตอยิ่งหนักกว่าเราอีก ด้วยความที่ปลาเป็นสัตว์เลือดเย็น การปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมทำได้ช้ากว่าเรามาก อากาศและอุณหภูมิที่เปลี่ยนบ่อยๆ หรือเปลี่ยนอย่างเฉียบพลัน (เช่นการเปลี่ยนน้ำทีเดียวหมดตู้เป็นต้น) จึงมีผลกับมันมากครับ
- อุณหภูมิของน้ำสูงเกินไป (อุณหภูมิที่เหมาะสำหรับการเลี้ยงปลาเสือตอคือ 28- 32 องศาเซลเซียส) ซึ่งส่งผลต่อระบบการทำงานในตัวปลา นอกจากนั้นการที่อุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดลง จนถึงระดับที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของปลา (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนปลาที่กำลังแย่งออกซิเจนกันด้วย)
- คุณภาพน้ำ แน่นอนที่สุด .. เมื่อคุณภาพน้ำต่ำ ปลาสามารถเป็นได้ทุกโรคเลยครับ ไม่ใช่แค่โรคหอบเท่านั้น
- ความเครียดของปลา อันมีสาเหตุมากจาก ความหนาแน่นของปลาที่มีมากเกินไป อุณหภูมิของน้ำ กินอาหารมากไป เป็นต้น
วิธีรักษาโรคปลาเสือตอหอบ
ถ้า ปลาเสือตอ ของคุณเป็นโรคหอบ ขอแสดงความเสียใจด้วยครับ .. โอกาสรอดมีน้อยมาก ปลาเสือตอที่เป็นโรคหอบส่วนใหญ่จะไม่รอด เพียงแต่ว่าจะตายช้าหรือตายเร็วเท่านั้นเอง ตัวที่รอดมาได้ก็กลายเป็นปลาพิการ ไม่สดชื่น ไม่ค่อยกิน (และในที่สุดก็ตาย)
ลองสังเกตุดู จะเห็นได้ว่า สาเหตุของโรคหอบ เกิดจาก สภาพแวดล้อม ทั้งสิ้น ดังนั้นจึงไม่มียารักษาโรคที่จะมารักษาได้ การรักษาจึงทำได้เพียงการช่วยปรับสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น เช่น :
- เพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำ เช่นเปิดออกซิเจนให้แรงขึ้น แยกปลาออกมา ลดจำนวนปลา เป็นต้น
- ลดความเครียดของปลา เช่น ลดจำนวนปลา เป็นต้น
- ปรับอุณหภูมิของน้ำให้เหมาะกับปลาเสือตอ (28-32 องศาเซลเซียส)
- ลดอาหารให้น้อยลง
- เพิ่มคุณภาพของน้ำ
- สวดมนต์ขอให้ปลาหายเป็นปกติเร็วๆ
วิธีป้องกันโรคปลาเสือตอหอบ
เมื่อเรารู้แล้วว่า ปลาเสือตอที่เป็นโรคหอบ มักจะรอดยาก การรักษาไม่เป็นผล ดังนั้น เราจึงควรป้องกันไม่ให้ปลาเป็นโรคนี้จะดีกว่า อย่าปล่อยให้มันเป็น เพราะเมื่อเป็นแล้ว..ไม่รอด
วิธีป้องกันโรค ปลาเสือตอหอบ จึงกลับมาสู่หลักพื้นฐานการเลี้ยงปลา คือ ดูแลรักษา สภาพแวดล้อมให้ดีและเหมาะสมกับปลานั่นเอง
- คุณภาพน้ำ น้ำดี น้ำสะอาด ปลาที่ไหนก็ชอบครับ เพราะ ความสะอาดของน้ำส่งผลกับปลาในทุกๆด้านไม่ว่าจะ โตหรือไม่โต สวยหรือไม่สวย ป่วยหรือไม่ป่วย และ ตายหรือไม่ตาย การเปลี่ยนน้ำจึงควรทำเป็นประจำ บางคนทำทุกวัน บางคนทำทุก 2, 3, หรือ กี่วันก็ตาม ถ้าทำบ่อยก็ลดปริมาณน้ำในการเปลี่ยนแต่ละครั้งลง เช่นเปลี่ยนน้ำทุกวันวันละ 10 % ถ้าเปลี่ยนทุก 2 วันก็เปลี่ยน 20% เป็นต้น จะเปลี่ยนมากน้อย บ่อยขนาดไหน ขอให้ดูว่าน้ำสกปรก หรือ เหม็น ขนาดไหน สกปรกมากก็เปลี่ยนให้ถี่ขึ้นหรือปริมาณมากขึ้น อ้อ.. อย่าลืม ห้ามเอาน้ำประปาที่ออกมาจากก๊อกสดๆ ให้ปลานะครับ น้ำที่นำมาใช้ควรผ่านกรองคลอรีนหรือใส่ถังเก็บไว้แล้ว 2-3 วัน
- รักษาระดับอุณหภูมิ อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับปลาเสือตอคือ 28-32 องศาเซลเซียส หาเทอร์โมมิเตอร์มาติดไว้และควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสม เวลาเปลี่ยนน้ำต้องระวังความแตกต่างระหว่างน้ำที่เติมลงไปกับน้ำที่อยู่ในตู้ อย่าให้ต่างกันเกิน 3 องศาเซลเซียส เพราะจำทำให้ปลาน็อคได้ครับ หรือจะให้ดีใช้ระบบน้ำที่มีการถ่ายและเปลี่ยนน้ำตลอดเวลา คือ จะมีน้ำไหลทิ้ง และ เติมลงใหม่ในอัตราที่เท่ากัน แบบปริมาตรเท่าฉี่แมวตลอดเวลา การทำแบบนี้จะได้น้ำใหม่ สะอาดเข้าไปและน้ำเสียไหลออกเสมอ คุณภาพน้ำจะดี อุณหภูมิก็ค่อนข้างคงที่ ไม่เปลี่ยนแปลงมากเกินไป (แต่มันจะเปลืองค่าน้ำหน่อยครับ)
- หมั่นล้าง และ ทำความสะอาดอุปกรณ์กรองน้ำด้วยครับ ใยแก้ว ก็ควรเปลี่ยนบ่อยๆ
- ในการเลือกซื้อปลา มีข้อแนะนำดังนี้
- ห้ามเลือกปลาที่สีดี นิ่งไม่มีเปลี่ยน นั่นคือ คุณได้ปลาเป็นโรคไปเสียแล้ว ปลาที่ดีควรปรับสีได้ นั่นคือเวลาที่อยู่เฉยๆอาจจะไม่สวยมาก แต่พอลองเอาปลาใหญ่ไปไล่สีจะ ปลาจะปรับสีจนสมบูรณ์ (***ปลาที่ป่วยจะไม่ปรับสี สีจะเหลืองตลอดเวลาการที่เสือตอปรับสีไปมานั่นบ่งบอกถึงการกระตือรื่อร้น ระแวง และ ป้องกันตัว ถือเป็นปลาที่เเข็งเเรง)
- ห้ามเลิอกปลาที่ลอยนิ่งๆ อาการหอบจะค่อยกำเริบ ลักษณะคือ ปลาดูซึมๆ อาการเเรกจะเฉยๆ ไม่ต่างจากปลาปกติเท่าไหร่ *** จึงขอแนะนำให้เลือกปลาที่ซนๆ ดุๆ ดูง่ายๆ คือ เวลาเอาปลาไปล่อกับปลาใหญ่ ปลาจะสู้ เหมือนปลากัด **ย้ำเหมือนปลากัด** นั่นคือปลาที่แข็งแรง แล้วเกือบ 100%ของปลาที่ดุ สีจะดี นั่นคือ มันไม่ค่อยกลัวปลาตัวอื่น ปลาที่เป็นโรคจะไม่สู้เลย ทำหน้าทำตาเบื่อโลก นิ่งเหมือนเดิม
หวังว่าเพื่อนๆ คนรักปลาเสือตอ คงได้ประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยจากการอ่านบทความนี้
สำหรับโรคอื่นๆ ผมแนะนำให้อ่านบทความ โรคในปลาเสือตอ เพิ่มเติมครับ
และสุดท้ายนี้ .. ขอให้มีความสุขกับการเลี้ยงปลาเสือตอครับ
ขอขอบคุณ : ภาพปลาเสือตอหอบจาก http://www.ninekaow.com
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://aqua.c1ub.net/forum/lite.php?topic=62353.0
http://www.ninekaow.com/wbs/?action=view&sub=06&id=0000983
http://www.pantown.com/board.php?id=2888&area=4&name=board2&topic=2605&action=view